top of page
Search

โอกาสสู่การสร้างชีวิตที่ดีกว่าเพื่อทุกคน

Updated: Jun 17, 2021


การจ้างงานย่อมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของทั้งผู้ที่ถูกว่าจ้าง และผู้คนที่เกี่ยวพันกันในสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากผู้ที่ถูกว่าจ้างก็ได้รับผลตอบแทน และได้สร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ ในส่วนของผู้ว่าจ้างก็ได้รับผลผลิตจากการทำงาน ซึ่งทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์จากสินค้าและบริการ ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนับเป็นกลไกสำคัญของการสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรงของประเทศ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ที่ผู้ถูกว่าจ้าง ไม่ได้ถูกประเมินค่าอย่างตรงไปตรงมาว่า จะต้องสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเท่าใด ค่าจ้างจึงไม่นับเป็นต้นทุนที่จำเป็นต้องเสีย และถูกหักลบเพื่อดูว่าการจ้างงานนั้นคุ้มไหมอีกต่อไป แต่ได้เปลี่ยนมุมมองของการจ้างงาน สู่การเป็น “ทุนมนุษย์” ที่ธุรกิจลงทุน เพื่อให้พวกเขาสร้างคุณค่าที่ดีกว่ากลับคืนมายังธุรกิจ และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

.

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ระบุว่า คนพิการอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (ผู้สูงอายุ) คิดเป็น 55.14% ของจำนวนคนพิการทั้งหมด รองลองมาคือ คนพิการที่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 - 59 ปี คิดเป็น 40.97% ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาสังคม และประเทศโดยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แรงงานในวัยทำงานทุกกลุ่ม จึงเป็นที่ต้องการและมีความสำคัญมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่า หากภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อดึงเอาศักยภาพในการทำงานออกมาจากกลุ่มผู้พิการที่อยู่ในวัยทำงาน นอกจากจะเป็นการเปิดตลาดแรงงานใหม่แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการจ้างงานให้แก่ผู้พิการอีกด้วย ส่งผลให้กระทรวงแรงงานได้สร้างแนวทาง เพื่อเพิ่มโอกาส และพัฒนาแรงงานคนพิการ โดยได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการปี พ.ศ. 2550 ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ให้คนพิการมีงานทำ เพื่อเป็นการสร้างทักษะวิชาชีพ สร้างรายได้ และความเท่าเทียมกันในสังคม

.

หนึ่งในเครือข่ายธุรกิจของกลุ่ม ปตท. อย่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้เล็งเห็นความสำคัญของทุนมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส จึงกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยสานต่อแนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อต่อยอดธุรกิจ Café Amazon ด้วยการจัดทำโมเดลธุรกิจ ร้าน “Café Amazon for Chance” ธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด อีกหนึ่งบริษัทกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินงานเพื่อสนับสนุน “องค์กรเพื่อสังคม (Social Enterprise)” เพื่อสร้างโอกาส และสร้างงานให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 โดยจัดอบรมและฝึกฝนให้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนการเป็นบาริสต้า (Barista) ตามมาตรฐานของ Café Amazon อีกทั้งยังพัฒนารูปแบบการทำงาน โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้เพื่อสนับสนุนพนักงาน อย่าง เครื่องบดกาแฟแบบดิจิทัล ที่มีความแม่นยำเรื่องรสชาติ และระบบการสั่งซื้อแบบ Duo Screen POS ที่จะช่วยจัดการข้อมูล ณ จุดขายหน้าร้านให้เป็นระบบ สามารถบันทึกข้อมูลการซื้อขาย และออเดอร์ของลูกค้าไว้ได้อย่างละเอียด ช่วยเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการทำงานของบาริสต้า ตลอดจนปรับกระบวนการทำงานสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อให้บาริสต้าที่เป็นผู้พิการสามารถทำงานได้อย่างสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่น่าประทับใจ คือการทำป้ายภาษามือ “วิธีสั่งเครื่องดื่มด้วยภาษามืออย่างง่าย” ให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ให้ได้เรียนรู้และสื่อสารกับบาริสต้าได้อีกด้วย

.

Café Amazon for Chance เปิดให้บริการแล้ววันนี้ ซึ่งโมเดลดังกล่าวสามารถสร้างงาน และพัฒนาศักยภาพให้แก่ ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางการเรียนรู้ กลุ่มทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ และผู้สูงอายุ แสดงให้เห็นว่า แม้ธุรกิจภายใต้การดูแลของ OR อย่าง Café Amazon จะประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับอย่างมาก และขยายสาขาไปทั่วประเทศ แต่ OR ก็ยังมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์แนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ และโลกของเรา นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสร้างสังคมที่ดีกว่าโดย OR

.

Analyzed by BRANDigest

.

198 views

留言


bottom of page