ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยประเด็นที่กำลังเป็นที่จับตามากที่สุดประเด็นหนึ่ง คือการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะมาทดแทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยการผลักดันอุตสาหกรรม EV เกิดขึ้นทั้งจากฝั่งของภาครัฐ อย่างการทุ่มงบประมาณการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี EV และการผลิตพลังงานสะอาด กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของ Biden หรือนโยบายการใช้แท่นชาร์จสาธารณะฟรีของนอร์เวย์ ไปจนถึงการใช้มาตรการภาษีนำเข้า 0% จากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน นอกจากนี้ยังมีการผลักดันจากฝั่งภาคธุรกิจ โดยการแข่งขันเพื่อครอบครองส่วนแบ่งการตลาด EV ของหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Tesla จากสหรัฐอเมริกา, Volkswagen Group จากเยอรมัน หรือ SAIC Motor จากจีน ซึ่งเมื่อเกิดการแข่งขันขึ้น ผลประโยชน์ก็มักตกอยู่กับผู้บริโภค จากราคาที่เข้าถึงง่ายขึ้น มีทางเลือกในตลาดมากขึ้น และระบบนิเวศของ EV ก็มีความพร้อมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้อุตสาหกรรม EV ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
.
ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพล จากการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ทั่วโลกอย่างมาก และผู้คนก็พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ยุคแห่ง EV จะเห็นได้จากแรงสนับสนุน EV ของผู้บริโภคในไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ภาพรวมตลาด EV ในประเทศ สำหรับปี พ.ศ. 2564 โดยคาดว่าภาพรวม EV ทั้งตลาดน่าจะโตที่ระดับ 69-79% หรือมีโอกาสสูง ที่จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีอยู่ 30,705 คัน มาเป็นกว่า 52,000-55,000 คัน หลังจากที่ 2 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 มียอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทกับกรมขนส่งทางบกมากกว่า 9,164 คันเป็นที่เรียบร้อย คิดเป็นการขยายตัวมากถึง 42.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
.
จากข้อมูลยังพบอีกว่า เมื่อจำแนก EV เป็นแต่ละประเภท EV แบบ 100% หรือ BEV นั้นจะมีอัตราการเติบโตในเชิงยอดขายสูงกว่า 210-288% เลยทีเดียว โดยคาดว่าจะมียอดขายทั้งปีที่ราว 4,000-5,000 คัน จากปีก่อนหน้าที่มียอดขายรวม 1,288 คัน ด้านไฮบริด (HEV) และ ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) คาดว่าจะมียอดขายรวมทั้งปีที่ 48,000-50,000 คัน เติบโตจากปีก่อนหน้า 63-70% มียอดขายที่ราว 29,417 คัน โดย EV ประเภทนี้ถือเป็นโมเดลมาตรฐานของ EV ในหลาย ๆ แบรนด์ไปแล้วโดยในอีก 10 ปีต่อจากนี้ หรือภายในปี พ.ศ. 2573 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่สัดส่วนยอดขายรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 55% ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวมทุกชนิดในปีนั้นของประเทศ สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม EV ของไทย ซึ่งมีโอกาสที่จะขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่า 50%
.
เมื่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่รอไม่ได้ และต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด การผลักดันให้ผู้คนในประเทศเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกซื้อรถยนต์ ให้เป็นรถที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก การขับเคลื่อนด้วยนโยบายจากภาครัฐ การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี และการเตรียมความพร้อมของระบบนิเวศ EV จากภาคธุรกิจ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกประตูสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย
.
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทิ้งท้ายไว้ด้วยว่ามาตรการกระตุ้นตลาดอันน่าสนใจนอกจากการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า และมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค คือการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ในประเทศ และมาตรการจำกัดการถือครองรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี เพื่อเพิ่มโอกาสหมุนเวียนรถยนต์ในตลาดให้มากขึ้นด้วย หากประเทศไทยรักษาการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ นี่ก็จะเป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ว่า การร่วมมือของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนจะเป็นพลังที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง และสร้างโลกที่ดีกว่าได้ในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments