top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

การปรับตัวของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อโลกที่ดีกว่า


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระบวนการผลิตอาหาร การขนส่ง หรือแม้แต่วิถีของการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในภาคปศุสัตว์ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสูง และปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลที่องค์การสหประชาชาติ (UN) มีรายงานว่า การเปลี่ยนไปใช้อาหารจากพืช หรือ Plant-based Food เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม ซึ่ง Plant-based Food นั้น เป็นอาหารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากพืช อย่างน้อย 95% ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ และเมล็ดพืช และถือเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ที่ให้โปรตีน จากถั่ว และธัญพืชเป็นหลัก โดยจะมีส่วนประกอบเป็นเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์ได้ในปริมาณไม่เกิน 5%

.

ในปัจจุบัน ธุรกิจหลายแห่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการผลิต และบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่าง IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง จากประเทศสวีเดน ที่ได้เปิดตัวอาหารจากพืชอย่าง Plant Ball ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ที่มีความคล้ายคลึงกับ Meatball แต่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ หรืออีกหนึ่งเมนูอาหารอย่าง Veggie Hot Dog ที่มีผักเป็นส่วนผสมหลัก แต่มีรสชาติที่ไม่ต่างจาก Hot Dog ทั่วไป มากไปกว่านั้น Beyond Meat สตาร์ตอัพโปรตีนทางเลือก ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจซึ่งผลิตเนื้อจากพืชที่มีรสชาติ และสีสันไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ จนกลายเป็นเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจท่ามกลางผู้บริโภค ส่งผลให้ Beyond Meat กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นดีที่สุดในปี พ.ศ. 2562

.

นอกเหนือจากนั้น แนวโน้มความนิยมในการบริโภค Plant-based Food ยังได้ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก The Good Food Institute พบว่า ยอดขายอาหารในกลุ่ม Plant-based Food ในประเทศสหรัฐอเมริกา พุ่งสูงขึ้น 11.4% ในปี พ.ศ. 2562 โดยมีมูลค่าตลาดมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ฯ ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูง เมื่อเทียบกับการขยายตัว 2.2% ของตลาดอาหารในภาพรวม ขณะที่ BIS Research ประเมินว่าตลาด Plant-based Food ของโลกมีมูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ และคาดว่าในปี พ.ศ. 2562-2567 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 14% ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีการคาดการณ์ว่าตลาด Plant-based Food จะมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2563 -2567 จะเติบโต เฉลี่ยประมาณปีละ 10% โดยในปี พ.ศ. 2562 มูลค่าตลาด Plant-based Food ในไทยอยู่ที่ประมาณ 28,100 ล้านบาท

.

หลากหลายหน่วยงานในประเทศไทยได้รณรงค์ให้คนไทยหันมาบริโภคอาหารจากพืช และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนกับ Plant-based Food กันมากขึ้น ยกตัวอย่าง ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ที่ได้มีการวิเคราะห์ว่า Plant-based Food จะเป็นโอกาสของธุรกิจอาหาร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และอัตรากำไรที่ดีขึ้นให้กับธุรกิจในอนาคต ถือเป็นแนวโน้มใหม่ที่น่าสนใจแห่งอุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้ริเริ่มส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของโลก ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์แล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

.

Analyzed by BRANDigest

.

183 views

Comments


bottom of page