top of page
Search

Adidas ต้นแบบธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า


ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบปกติ สิ่งแวดล้อมถูกมองเป็นเพียงแค่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นเพียง “สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา” ทรัพยากรจากธรรมชาติ จึงถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว โดยขาดการคำนึงถึงการมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรเหล่านั้น ซึ่งวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านั้นก็จะเริ่มลดลงและหมดไปในที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนเริ่มเห็นถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของโลกมากขึ้น หลายองค์กรรณรงค์ให้ผู้คนใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงผลกระทบที่ตนสร้างต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อผู้คนปรับตัว ธุรกิจก็ต้องปรับตาม โดยภายในยุคที่ธุรกิจไม่ปกติ (Business As Unusual) อย่างปัจจุบัน ธุรกิจในฐานะผู้ผลิตได้หันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และการรักษาทรัพยากรมากขึ้น อันเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

.

หนึ่งในแบรนด์อุปกรณ์กีฬาอันดับต้น ๆ ของโลก อย่าง Adidas มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ยกระดับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบการดำเนินการที่ดีกว่า เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น (Environmental Enhancement) ผ่านโครงการนำร่อง Infinite Play ในปี พ.ศ. 2562 ร่วมกับ The London Waste and Recycling Board (LWARB) เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร นำสินค้าของ Adidas ที่ไม่ต้องการ หรือไม่ใช้ประโยชน์แล้ว มีอายุไม่เกิน 5 ปี จากวันที่ซื้อ มาแลกเปลี่ยนกับ Adidas เพื่อรับค่าตอบแทนเป็นบัตรของขวัญแทนเงินสด (E-Gift card) หรือ คะแนนสะสม (Loyalty Point) เพื่อไว้ใช้จ่ายออนไลน์ โดย Adidas จะนำสินค้าที่ได้รับไปซ่อมแซม หรือ Recycle เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

.

โครงการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งนำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างปัญหาการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยข้อมูลจาก WRAP UK องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในสหราชอาณาจักร ต้นทุนการผลิตฝ้ายประมาณหนึ่งกิโลกรัมใช้น้ำเฉลี่ยถึง 15,000 ลิตร คิดเป็นปริมาณน้ำที่คนหนึ่งคนดื่มได้นานเกือบ 22 ปีแบบสบาย ๆ รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าก็ก่อให้เกิดขยะมากถึง 8,000 ตัน ในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนี้การดำเนินการของโครงดังกล่าว ยังตอบโจทย์กลยุทย์เพื่อความยั่งยืนใหม่ ‘Own the Game’ ในปี พ.ศ. 2568 ของ Adidas โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้น้ำ รวมถึงลดขยะจากภาคการผลิต โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2568 และใช้เส้นใยรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์ (Recycling Polyester) ภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากกระบวนการผลิตโพลีเอสเตอร์ จำเป็นต้องใช้พลาสติก PET ซึ่งเป็นพลาสติกที่ได้จากการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิล ซึ่งจะช่วยโลกของเราลดขยะพลาสติกได้ โดยสินค้าจะยังคงประสิทธิภาพที่ดี ทนทาน และปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

.

นอกจากนี้ Adidas ยังได้ดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย เช่นการร่วมมือกับองค์กรปกป้องท้องทะเลจากขยะพลาสติก (Parley Ocean Plastic) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ผลิตรองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเล โดยใช้ชื่อว่า “Adidas Parley” ผลิตรองเท้าจากขยะพลาสติกที่เก็บได้จากชายฝั่งทะเล มากกว่า 15 ล้านคู่ นอกจากนี้ยังได้ยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก ทุกสาขาทั้วโลก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลแทนการใช้พลาสติกสำหรับการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังจัดทำ รายงานความยั่งยืนประจำปี เพื่อติดตามการดำเนินการของธุรกิจ Adidas ด้านสิ่งแวดล้อม (Green Company Report) และบันทึกผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์อย่างยั่งยืน และนำข้อมูลไปวางแผนเพื่อการดำเนินธุรกิจที่ดีกว่าต่อไป การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ Adidas ส่งผลให้แบรนด์ ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ปี พ.ศ. 2563 โดยติดอันดับอย่างต่อเนื่องถึง 20 ครั้ง ด้วยการที่แบรนด์ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริงนับว่า Adidas เป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาระดับโลก ที่สร้างคุณค่าทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีกว่าในยุคของการทำธุรกิจที่ไม่ปกติดังเช่นปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

.

Analyzed by BRANDigest

.


1,046 views

Comments


bottom of page