top of page
Search

ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค เพื่อสมดุลของสามปัจจัยพื้นฐาน



แต่ละธุรกิจอาจมีเป้าหมายในการดำเนินการที่แตกต่างกัน บางธุรกิจต้องการให้คนในโลกเชื่อมต่อกัน บางธุรกิจอยากให้มนุษยชาติมีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น หรือบางธุรกิจก็ต้องการสร้างกำไรสูงสุดเพื่อความมั่งคั่งของคนในองค์กร แต่เป้าหมายหนึ่งที่หลายธุรกิจมีร่วมกัน คือการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่หากการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคนั้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ธุรกิจอาจจะต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อสินค้า บริการ หรือกระบวนการเหล่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในขณะเดียวกันหากธุรกิจสามารถออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และมีประสิทธิภาพ นั่นอาจกลายเป็นโอกาสใหม่ในการเติบโตใของธุรกิจแบบไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นไปได้

.

ภาคการเกษตร อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 10% จากปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก มีตัวการหลักคือก๊าซมีเทน ซึ่งมีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า ถูกปล่อยจากสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างวัว เมื่อย่อยอาหารจำพวกหญ้าหรือฟาง โดยวัวตัวหนึ่งจะปล่อยมีเทนออกมาวันละประมาณ 100 - 200 ลิตร หรือมากกว่านั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ได้คาดการณ์ว่าอัตราการปล่อยก๊าซมีเทนจะสูงขึ้นกว่าเดิม 60% ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยจากแนวโน้มการบริโภคเนื้อวัวที่สูงขึ้นในแต่ละปีก็แสดงให้เห็นว่าการคาดการณ์ของ FAO ไม่ได้เกินความเป็นจริงนัก อย่างในปี พ.ศ. 2561 ก็มีการบริโภคเนื้อวัวรวมกันทั้งโลกสูงถึง 60.9 ล้านตัน

.

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังหาวิธีในการลดการปล่อยมีเทนจากสัตว์เคี้ยวเอื้องเหล่านี้ ด้วยการเปลี่ยนวิถีการบริโภคของวัว เช่น การเพิ่มสาหร่ายทะเลในอาหารที่ให้วัวรับประทาน โดยนักวิจัยจาก University of California, Davis หรือการให้วัวกินกระเทียมเพื่อเข้าไปลดแบคทีเรียในกระเพาะที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขณะย่อยอาหาร โดยนักวิจัยจาก University of Wales หรือการตัดต่อพันธุกรรมของวัวเพื่อขยายพันธุ์วัวที่มีแบคทีเรียในกระเพาะน้อย โดยนักวิจัยจาก University of Adelaide แม้หลายวิธีจะส่งผลให้วัวปล่อยก๊าซมีเทนน้อยลงจริง ๆ แต่โลกก็ยังไม่ค้นพบวิธีการที่ดีที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่อวัว หรือลดมีเทนได้อย่างมีนัยและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ในแง่ของการใช้ทรัพยากร และพลังงานหากเราเทียบทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเนื้อวัว กับมะเขือเทศที่ 1 กิโลกรัมเท่ากัน เนื้อวัวใช้น้ำและพลังงานมากกว่านับ 10 เท่าเลยทีเดียว

.

ในฐานะของธุรกิจที่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อาจต้องมองในมุมมองใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับปัญหานี้ และสร้างการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน หากนำข้อคิดจาก Apple ที่ว่า “การใช้พลังงานที่สะอาดที่สุด คือการไม่ใช้พลังงาน” มาปรับใช้ในบริบทนี้ เราอาจพบว่าการลดปริมาณการปล่อยมีเทนจากวัวที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการไม่บริโภคเนื้อวัวเพื่อลดปริมาณวัวทั้งโลก ซึ่งอาจฟังดูสุดโต่งมากสำหรับผู้บริโภคในการหยุดบริโภคเนื้อวัวไปเลย หรือให้ธุรกิจหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เรือธงของหลายแบรนด์เช่น เบอร์เกอร์เนื้อ สเต๊กเนื้อ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเนื้อวัว จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า หากยังต้องการบริโภค หรือจำหน่ายเนื้อวัวต่อไป แต่ก็ไม่อยากสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับโลก ธุรกิจสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นทางออกตรงกลาง ระหว่างแต่ละทางออกไหม

.

อีธาน บราวน์ (Ethan Brown) อดีตวิศวกรด้านพลังงานทางเลือก เห็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นี้ และได้ก่อตั้งบริษัท Beyond Meat ในปี พ.ศ. 2552 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อค้นคว้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์แบบใหม่ที่ทำจากโปรตีนพืช (Plant-Based Meat) 100% ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเสมือนกับเนื้อจริง ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์ สี สัมผัส และรสชาติ โดย Beyond Meat ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพืชและสารธรรมชาติมาแทนที่ส่วนประกอบหลักทั้ง ของเนื้อสัตว์ทำให้การผลิตเนื้อดังกล่าวใช้น้ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้ที่ดินน้อยกว่าถึง 90% รวมทั้งใช้พลังงานน้อยกว่า 46% จากการทดลองโดย University of Michigan

.

การเติบโตขึ้นของยอดขายกว่า 287% ในปี พ.ศ. 2562 และตลาดเนื้อสัตว์จากพืชที่กำลังเติบโตกว่า 19% สะท้อนการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค นี่คือตัวอย่างของธุรกิจที่มองมุมต่างเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ การตั้งคำถามที่ถูกต้อง และความเข้าใจผู้บริโภค ยังมีปัญหามากมายในสังคมที่รอการแก้ไข ซึ่งภาคธุรกิจอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ธุรกิจอาจต้องคิดแล้วว่าวันนี้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เรากำลังแก้ไขปัญหาอะไรอยู่ หรือสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาอะไรได้อีกบ้างเพราะนั่นอาจเป็นการเติบโตครั้งใหม่ (Next growth) ขององค์กรเลยก็ได้

.

Analyzed by BRANDigest

.

173 views

Comentarios


bottom of page