
หากนึกถึงชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต หลายคนอาจจะนึกถึงพื้นที่ป่าไม้ ชุมชนในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลที่จะพูดถึงในบทความนี้ จะพบว่า “เมืองหลวง” ที่เต็มไปด้วยผู้คน บ้านเรือน อาคาร และการจราจรที่ติดขัดนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด ที่จะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในฐานะตัวขับเคลื่อนความเจริญของสังคม และก่อให้เกิดการสร้างงาน รวมถึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสัตว์ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน จากรายงาน The Future of Nature and Business ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ส่งผลดีต่อธรรมชาติ สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจทั่วโลก ได้มากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสร้างงานได้ถึง 117 ล้านตำแหน่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 แสดงให้เห็นว่า การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของเมือง เป็นโอกาสดีที่จะช่วยเพิ่มอัตรการเติบโตทางเศรษฐกิจได้
.
ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง เกิดจากปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การพัฒนาของเมืองโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนบางส่วนที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะและขยะมูลฝอย นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของประชากรในเมือง ยังส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล อันเป็นสาเหตุหลักของการทำลายระบบนิเวศในเมือง ข้อมูลจากสภาเศรษฐกิจโลกระบุว่า ปัจจุบันนี้ มีสัดส่วนประชากรกว่า 55% ของโลกอาศัยอยู่ในเมือง และอาจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตเนื่องจากเมืองต่าง ๆ ยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
.
จากประเด็นดังกล่าว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้ร่วมมือกันเปิดตัวโครงการ UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030 ซึ่งเป็นแผน 10 ปี เพื่อส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศในชุมชนเมือง และสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของเมืองที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ คือ “สิงคโปร์” เมืองอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกถึง 4% ของนกหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลก โดยได้ประกาศยุทธศาสตร์ในการเป็น AgTech Startup hub ของเอเชีย หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของเมืองที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการเกษตร โดยสิงคโปร์ได้สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตอาหารในประเทศได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากเดิม 90% ของอาหารในประเทศสิงคโปร์ เป็นอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ (Imported Food) อีกทั้งยังได้เปลี่ยนตัวเองจากการเป็นเมืองที่มีสวนมากมาย (Garden City) สู่การเป็น เมืองในสวน (A City in a Garden) จากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมไปถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทำให้หลายประเทศ ให้ความสนใจต่อการสร้างระบบนิเวศที่เป็นศูนย์กลางแห่งการบ่มเพาะเศรษฐกิจ ร่วมกันกับประเทศสิงคโปร์ หนึ่งในนั้นคือประเทศออสเตรเลีย ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง Advantage Austria and Global Incubator Network (GIN) ศูนย์รวมสตาร์ทอัพและนักลงทุน ประเทศออสเตรเลีย กับ Action Community for Entrepreneurship (ACE) ศูนย์รวมสตาร์ทอัพครบวงจร ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศของทั้งสองประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ เพื่อทำการค้าและธุรกิจร่วมกัน
.
ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การสร้างความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และระบบนิเวศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต สามารถทำได้ และควรที่จะทำในชุมชนเมือง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในสังคม อย่างปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการทรัพยากร จนไปถึงปัญหาการจ้างงาน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นส่วนช่วย ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนทั้งในด้านของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านความเป็นอยู่ของคนในสังคม ไปจนถึงด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยเมืองที่ถูกพัฒนาอย่างยั่งยืนจนกลายเป็น “เมืองที่ดีกว่า” นี้ ก็จะสร้างโลกที่ดีกว่าให้กับเราทุกคนได้ในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments