การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี และการเติบโตของชุมชนเมืองทั่วโลก ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แบบเมื่อไหร่ก็ได้ (Anytime) ที่ไหนก็ได้ (Anywhere) จนกลายเป็นความคุ้นชิน หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการเติบโตขึ้นของธุรกิจ Food Delivery โดยในปี พ.ศ. 2562 ตลาดของ Food Delivery ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 33,000-35,000 ล้านบาท และโตต่อเนื่องราว 14% จากปีก่อน หรือแม้กระทั่ง U DRINK I DRIVE แพลตฟอร์มที่บริการขับรถแทนในวันที่ปาร์ตี้หนัก ลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุบนท้องถนน
ถึงแม้ความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นอาจจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น 62% ในเดือนเมษายน ที่มีปริมาณขยะพลาสติกมากกว่า 3,432 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (เฉลี่ย 2,115 ตัน) ซึ่งกว่า 80% เป็นถุงใส่ภาชนะอาหารที่นำกลับบ้าน ขวดน้ำ และแก้วน้ำพลาสติก
อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามาในชีวิตของผู้บริโภคก็ได้มีส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคม ยกตัวอย่างการสร้างอาชีพที่เพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์ม E-commerce ที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนของมุมโลก หรือการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้คนที่มีจักรยานยนต์ นอกจากอาชีพหลักแล้ว พวกเขายังสามารถนำเวลาที่เหลือ หรือเวลาในวันหยุด มารับส่งอาหารให้กับลูกค้า
สุดท้าย คงเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั้น สร้างผลกระทบเชิงลบหรือบวกมากกว่ากัน แต่คงไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการสร้างจิตสำนึกที่ดีในการบริโภค เลือกซื้อหรือสนับสนุนสินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม ต้องอย่าลืมเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดีกว่า ในการสร้างโลกที่ดีกว่า”
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
Commenti