หากย้อนดู Timeline ที่ผ่านมาของวิกฤต COVID-19 นับตั้งแต่วันที่รัฐบาลตัดสินใจประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งกินระยะเวลากว่า 1 เดือน พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วันนี้ ศบค. ได้ประกาศมาตราการผ่อนปรนระยะที่ 4 และประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว โดยจะมีผลในวันที่ 15 มิถุนายน นี้
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่คือความร่วมมือของทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ที่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติมากกว่ามาตรการควบคุมที่ภาครัฐกำหนด โดยมีการดำเนินการที่สอดประสาน และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐ - ออกประกาศบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค พร้อมออกมาตราการเยียวยาเพื่อรองรับผลกระทบที่แต่ละภาคส่วนจะได้รับจากข้อกำหนดที่ประกาศ เช่น ประกาศยกเลิกการให้บริการจากสถานบริการต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ออกมาตราการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดรายได้จากการปิดให้บริการสถานบริการนั้น ๆ เช่น มาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท หรือยืดระยะเวลาการเสียภาษี เป็นต้น ภาคธุรกิจ - ปรับรูปแบบธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่ขัดต่อข้อปฏิบัติที่ภาครัฐกำหนด เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ที่ปรับตัวจากการเปิดให้บริการทานอาหารในร้าน เป็น Food Delivery เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ต้องการใช้บริการ และตอนนี้ถึงแม้ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้แล้ว ก็ยังลดจำนวนที่นั่งภายในร้านลง หรือการจำกัดจำนวนที่นั่งต่อโต๊ะ เพื่อเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ตลอดจนพัฒนาสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมด้วย ภาคประชาชน - ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมหลัก 5 ข้อ คือ ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มให้เกิดความแออัด และทานอาหารสุกใหม่ ตลอดจนการแบ่งปันสิ่งของ เครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้ขาดแคลน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในช่วงสภาวะวิกฤตได้ อีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วนที่เห็นได้ชัด คือ การใช้งานแพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" เพื่อใช้ติดตามกรณีที่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งไม่ถึง 6 ชม. ของการเปิดตัวแพลตฟอร์มมีร้านค้าลงทะเบียนผ่าน "ไทยชนะ" จำนวน 26,736 ร้านค้า และมีประชาชนเช็คอินเข้าใช้บริการ 4,635 คนต่อนาที (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
ถึงแม้สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะไม่ Move on เป็นวงกลม จนเท่ากับว่าความพยายามที่ผ่านมากลายเป็นศูนย์ ทุกก้าวที่เดินหน้าต่อจากนี้ยังคงต้องอาศัยการผนึกกำลังกันของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน อย่างเช่นที่ผ่านมา แน่นอนว่าความสามัคคี และการจับมือไปด้วยกันของทั้ง 3 ภาคส่วนในครั้งนี้ จะช่วยนำพาพวกเราทุกคนกลับมามีความพร้อมที่จะกว่าสู่สถานะที่ดีกว่าได้ในไม่ช้า ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563
อ้างอิง : ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงชาติ (สำนักงานประสานงานกลาง) #BetterThailand #BWi #BetterWorld #3Ps #NetPositiveImpact
留言