top of page
Search

เมื่อโลก“เปลี่ยน”ธุรกิจต้อง“ปรับ”

Writer: BWi OfficialBWi Official


การดำเนินธุรกิจได้เดินทางมาถึงจุดที่ต้องมีการตัดสินใจครั้งสำคัญ ตัวเลขความสำเร็จต่าง ๆ ของธุรกิจที่สังคมรับรู้ เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการก่อหนี้มหาศาล ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคที่เกินพอดี ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจนเกินขีดจำกัด ความผันผวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยแล้งที่กินระยะเวลายาวนาน และภัยพิบัติอีกมากมาย คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากธรรมชาติ


การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจได้ทิ้งคนจำนวนมากไว้เบื้องหลัง Oxfam หรือ องค์กรด้านการพัฒนาเพื่อลดความยากจนจากประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่าระหว่างปี พ.ศ. 2552-2562 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีที่เท่ากับ ความมั่งคั่งทั้งหมดของคนที่จนที่สุดในโลก 50% มีจำนวนลดลงจาก 380 คน เหลือ 26 คน ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างคนที่มีฐานะมั่งคั่งกับคนที่มีฐานะปานกลาง ถึงระดับล่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อปัญหาความยากจน และระบบเศรษฐกิจ 


ในขณะที่ภาคธุรกิจถูกมองว่าเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญ ภาคธุรกิจเอง ก็ถือเป็นความหวังในการแก้ปัญหาเหล่านั้น จากผลการวิจัยของ Accenture ในปี พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า 62% ของจำนวนผู้บริโภคเกือบ 30,000 คน จาก 35 ประเทศทั่วโลก ต้องการให้ภาคธุรกิจมีจุดยืนที่แสดงถึง ความยั่งยืน ความโปร่งใส และการจ้างงานที่เป็นธรรม ดังนั้น แทนที่ธุรกิจจะมองหาแต่โอกาสในการสร้างผลกำไรสูงสุด เพียงอย่างเดียว ธุรกิจจำเป็นต้องมองย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง เพื่อหาวิธี และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับทุกคนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า รวมไปถึงต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในว่า การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอย่างไร


การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ในระดับที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ในระดับโครงการ หรือมาตรการเพียงครั้งคราว การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการมองย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งต่างจากแบบเดิมที่ปล่อยให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปตามปกติ การให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่ครอบคลุม ทั้งในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม อาจสร้างโอกาสในการเติบโตครั้งใหม่ของธุรกิจ และยังทำให้ธุรกิจได้รับการสนับสนุนจากลูกค้า ผลการวิจัยของ IBM Institute for Business Value ร่วมกับ National Retail Federation แสดงให้เห็นว่า ลูกค้า 6 ใน 10 คน พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่าย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 8 ใน 10 คน ยอมรับว่า ความยั่งยืน มีความสำคัญต่อพวกเขา


ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจต้องกลับมาคุยกันแบบจริงจังว่า กำไร เท่ากับความสำเร็จที่แท้จริงหรือไม่ บ่อยครั้งที่เราเห็นธุรกิจศูนย์เสียความเป็นตัวเองไป เพียงเพราะต้องการทำกำไรอย่างไร้ขอบเขต ที่ผ่านมา โลกถูกพิสูจน์มากพอแล้วว่า การเทียบเคียงความสำเร็จด้วยรายได้ ไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ท่ามกลางโลกที่ไม่ปกติและยากจะคาดเดา ไม่มีวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะมันคือกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งก็คือกระบวนการในการสร้างสถานะที่ “ดีกว่า” นั่นเอง 



ที่มา :

Accenture

IBM Institute for Business Value

Oxfam


ภาพ :

Smithsonian Magazine



 

Comentários


bottom of page