top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

โลกที่ดีกว่า จากการแข่งขันกีฬาที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Updated: Jan 12, 2021



เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าการจัดแข่งขันกีฬารายการใหญ่ อย่างโอลิมปิก และฟุตบอลโลก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ในปี พ.ศ. 2548 พบว่าการจัดการแข่งขันกีฬาอาจจะก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำ เสียง อากาศ รวมถึงการส่งผลกระทบต่อ สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากรและพลังงาน อันเนื่องมาจากขยะ และของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน

.

ดังรายงานการวิจัยของนาย ชาร์ลส ชมิดท์ (Charles Schmidt) เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ได้ผลลัพธ์สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล โดยผลการวิจัยระบุว่าการจัดการแข่งขันกีฬาก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผลจากการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับจัดแข่งขัน การใช้พลังงานระหว่างการแข่งขันซึ่งปล่อยมลพิษจำนวนมหาศาล และการสร้าง ขยะจำนวนมาก อย่างเช่น การจัดฟุตบอลโลกในปี พ.ศ. 2549 มีการใช้พลังงานในการจัดการแข่งขันทั้งหมดถึง 3 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่ากับการใช้พลังงานของครอบครัวคนในยุโรปถึง 700 ครัวเรือนด้วยกัน นอกจากนั้นยังสร้างขยะอีกกว่า 10,000 กิโลกรัม

.

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) จัดทำคู่มือการจัดแข่งขันกีฬาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Olympic Movement Agenda 21: Sport for Sustainable Development ขึ้นในปี พ.ศ. 2537 เนื้อหาของคู่มือนี้พัฒนามาจากผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2535 ที่รณรงค์ให้ประเทศสมาชิกหันมาตื่นตัวและใส่ใจกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมากขึ้น โดยนอกจากจะเน้นย้ำไปที่การพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศที่จัดการแข่งขันแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกเพิ่มบทบาทในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังประกาศให้สิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในสามคุณค่าหลักของโอลิมปิกนิยม (The Third Pillars of Olympism) ร่วมกับคุณค่าด้านกีฬาและวัฒนธรรม

.

การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่นำเอาแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาใช้ คือ โอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า ในปี พ.ศ. 2535 โดยผู้จัดการแข่งขันได้นำเอาแนวคิด “การออกแบบสีเขียว” มาใช้ในการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬา และหลังจากที่มีการจัดทำคู่มือการแข่งขันกีฬาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนออกมาแล้ว ซิดนีย์ก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี พ.ศ. 2543 จากแผนที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ต่อมาคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้เพิ่มความยั่งยืนในวงการกีฬาให้เข้มข้นมากขึ้น ด้วยการเซ็นข้อตกลงร่วมมือกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วย “การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในการแข่งขันกีฬาให้กับประชาชน” รวมทั้งยังจัดตั้งคณะกรรมการกีฬาและสิ่งแวดล้อม (Sport and Environment Commission) เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการแข่งขันกีฬาขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ที่ต้องการยื่นประมูลขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ต้องให้ความสนใจประเด็นด้านความยั่งยืนและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการจัดการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

.

แต่ที่อาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในการผลักดันประเด็นเรื่องความยั่งยืนและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการแข่งขันกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจริง ๆ คือการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2555 ภายใต้แนวคิด “โอลิมปิกบนโลกใบเดียวกัน” (One Planet Olympics) ซึ่งทางผู้จัดอ้างว่าเป็นการแข่งขันโอลิมปิกที่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด หรือ “เขียวที่สุด” เท่าที่เคยจัดมา โดยทางลอนดอนได้พัฒนาแนวคิดนี้ร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล(World Wild Life Fund: WWF) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ โดยในแผนดำเนินการได้ให้คำมั่นที่แสดงถึงความจริงใจในการผลักดันแนวคิดเรื่องความยั่งยืนถึง 76 ข้อด้วยกัน อาทิเช่น การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การสร้างของเสียเป็นศูนย์ การขนส่งแบบยั่งยืน ใช้วัตถุดิบ และสนับสนุนอาหารที่มาจากท้องถิ่น, การใช้น้ำอย่างยั่งยืน, ความเท่าเทียมและการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยทางผู้จัดได้นำเอามาตรฐาน ISO 20121 ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการการแข่งขันกีฬาอย่างยั่งยืน (Standard for Sustainable events management) มาใช้ รวมถึงภายหลังการแข่งขันเสร็จสิ้น ก็ยังได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI (Global Reporting Initiative) เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่าผู้จัดการแข่งขันสามารถบรรลุเป้าหมายที่ให้คำมั่นไว้มากน้อยเพียงใด

.

จะเห็นได้ว่า การจัดการแข่งขันกีฬาอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริงถ้าตั้งใจ ถึงตอนนี้ทุกคนคงรอดูว่า การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ ไป จะมีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมาตรการส่งเสริมความยั่งยืนต่อไปอย่างไร หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลง"ก็จะยกระดับความสำคัญของความยั่งยืนในวงการกีฬาได้อย่างสวยงาม

.

Analyzed by BRANDigest

.

1,665 views

Comments


bottom of page