ปัจจุบันธุรกิจหลายแห่งเห็นความสำคัญของความยั่งยืนมากขึ้น จากผลสำรวจพบว่า 99% ของ CEO ในบริษัทที่มีรายได้ต่อปีมากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าความยั่งยืนสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของธุรกิจ โดยวิธีหนึ่งที่ธุรกิจสร้างความยั่งยืน คือการเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้านสังคม หรือด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากการประกาศนโยบายปรับกระบวนการทำธุรกิจ เพื่อแสดงถึงการเป็นธุรกิจที่ดี อาจในแง่ของการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น เช่น การงดแจกถุงพลาสติกของ CP ALL ใน 7-ELEVEN การลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Apple หรือ Microsoft แต่เหนือกว่าการลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ คือการสร้างผลกระทบเชิงบวก ต่อผู้คนและต่อโลก โดยใช้ธุรกิจเป็นตัวขับเคลื่อน
การสร้างผลกระทบเชิงบวกมักอยู่บนพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะเมื่อผู้คนประสบกับปัญหาในการดำเนินชีวิต ก็ย่อมต้องการผู้ที่จะมาคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือความร่วมมือจากทุกฝ่ายก็ตาม ที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งเมื่อธุรกิจมองเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาส ปัญหาในสังคมก็คือความต้องการ (Demand) รูปแบบหนึ่ง หากธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหานั้นพร้อมกับผลิตภัณฑ์ที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และทำให้ธุรกิจเดินต่อไปด้วยแรงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศทุกคน ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงมากและเป็นภัยต่อโลกในปัจจุบัน ก็คือปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ทั้งการบริโภคและโภชนาการซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในประเด็นต่าง ๆ
ปัจจุบันปัญหาด้านโภชนาการส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลก จากข้อมูลของ World Health Organization ระบุว่า ไอโอดีน วิตามิน เอ และธาตุเหล็ก คือสารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพ หากขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและพัฒนาการของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กในประเทศรายได้น้อย สอดคล้องกับการศึกษาของ Unilever ผู้หญิงในประเทศเคนยา 1 ใน 4 คนประสบปัญหาขาดธาตุเหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง และความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรที่มีความบกพร่องจากการขาดสารอาหาร
จากปัญหาดังกล่าว Royco แบรนด์ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร ในเครือ Unilever ที่เราอาจรู้จักในนาม Knorr เห็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจัดทำโครงการ Get your iron up! เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง แล้วใช้โอกาสจากการปรุงอาหารและการบริโภคเพื่อเพิ่มธาตุเหล็กที่ได้รับในแต่ละวันของคนในชุมชน ซึ่ง Royco ได้เพิ่มธาตุเหล็กเข้าไปในผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารก้อน แล้วจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ โดยปี พ.ศ. 2562 ชาวเคนยากว่า 280,000 ครัวเรือน ได้รับความรู้เรื่องภาวะขาดธาตุเหล็ก และเข้าถึงตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ Royco
ผู้คนอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้บริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของคุณค่าที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญ หากธุรกิจตั้งเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการให้กับผู้บริโภค และแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับคุณค่าเหล่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ก็จะเปลี่ยนบทบาทจากเครื่องมือสร้างผลกำไรให้กับบริษัท เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม ธุรกิจอาจต้องตั้งคำถาม และเลือกวางตำแหน่งหรือบทบาทให้ถูกต้อง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ เพราะความยั่งยืนเปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนการเติบโตให้กับธุรกิจ
Analyzed by BRANDigest
#BetterCorporate#BWi#BetterWorld#3Ps#NetPositiveImpact
Comments