แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวสำหรับการทำธุรกิจ และมีหนทางมากมายสู่การสร้างการเติบโต แต่หนึ่งในหลักการอันเป็นที่ยอมรับและพูดถึงทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก หลักการที่มุ่งให้เห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง การดำเนินการบนทางสายกลาง และการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หลักการนั้นคือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่ผสกนิกรชาวไทย โดยหัวใจสำคัญของปรัชญานี้ คือ หลักคิด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่งธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้...
องค์ประกอบ 3 ห่วง ส่วนแรกคือ “ความพอประมาณ” ธุรกิจควรดำเนินการอยู่บนความพอประมาณ ไม่ทำกำไรจนสร้างผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม การลงทุน การใช้จ่ายในบริษัท หรือการกู้ยืมเงิน ควรประเมินตนเองแล้วใช้เงินอย่างพอประมาณ ห่วงถัดมาคือ “ความมีเหตุผล” ต้องมีเหตุผล และความรอบคอบในการตัดสินใจ คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ห่วงสุดท้ายคือ “การมีภูมิคุ้มกันที่ดี” ธุรกิจควรมีความยืดหยุ่น (Resilience) สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruption) ของสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ วางแผนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงของบริษัททั้งในด้านการแข่งขัน การแทนที่ผลิตภัณฑ์ และด้านการเงิน
นอกจากองค์ประกอบสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมี 2 เงื่อนไข ซึ่งการมีความรู้ คือเงื่อนไขข้อแรกที่ผู้ดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพึงมี เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ การศึกษาอย่างถ่องแท้ จนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้แต่ละศาสตร์เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ คือเรื่องสำคัญ เนื่องจากความเชี่ยวชาญ (Expertise) เป็นพื้นฐานของการริเริ่มสิ่งใหม่ โดยอีกเงื่อนไขที่ต้องมีควบคู่กันไป คือการมีคุณธรรม ธุรกิจต้องอาศัยความซื่อสัตย์สุจริต การมีความรับผิดชอบ และความโปร่งใส เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน เช่นการให้ความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำตามระเบียบข้อกฏหมาย เพื่อให้ธุรกิจสามารถใช้ความรู้เพื่อสร้างคุณค่า ภายใต้การยึดมั่นในคุณธรรม เมื่อรวมกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็จะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้
เมื่อธุรกิจพบกับวิกฤตที่ยากต่อการรับมือ การยึดถือในหลักการที่ดีและถูกต้อง แล้วดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็ว คือหัวใจสำคัญของการมีความยืดหยุ่น (Resilience) ในการดำเนินธุรกิจ จะเห็นได้จาก SCG ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปี พ.ศ. 2540 ที่การลงทุนมหาศาลในต่างประเทศ พิษเศรษฐกิจ และการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวของรัฐบาล ส่งผลให้ SCG มียอดเงินกู้สุทธิสูงถึง 246,700 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 52,000 บาท แต่จากการน้อมนำปรัชญาเศรษกิจพอเพียงมาปรับใช้ ทำให้ SCG ประเมินสถานการณ์ และปรับโครงสร้างองค์กรจากเดิมที่มี 10 กลุ่มธุรกิจให้เหลือ 3 กลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าเจรจากับเจ้าหนี้ทุกคนอย่างตรงไปตรงมา ใส่ใจกับนโยบายบริหารความเสี่ยงมากขึ้น และเน้นแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งนั่นทำให้ภายใน 5 ปี SCG สามารถกลับมามีกำไร และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกครั้งในที่สุด
Analyzed by BRANDigest
Comments