top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

เดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ลู่เข้าสู่การสร้างคุณค่าที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เพราะธุรกิจหันมาคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของตนมากขึ้น เพราะมีแรงจูงใจจากภาครัฐ เพราะมีการตีแผ่เรื่องการทำธุรกิจในแบบที่ดีกว่าในเวทีระดับโลกมากขึ้น หรือเพียงเพราะต้องตอบสนองความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนั้นคำถามในทุกวันนี้จึงถูกเปลี่ยนไปจาก “ธุรกิจควรเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเป็นธุรกิจที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่” มาเป็น “ธุรกิจจะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเป็นธุรกิจที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร”

.

ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน หากคิดแบบผิวเผินอาจจะมองเป็นเรื่องง่ายที่ใครก็คิดได้ เพียงแค่เปลี่ยนจากการผลิตแบบเดิม เป็นการผลิตแบบใหม่ จากการใช้พลังงานแบบเดิม เป็นพลังงานแบบใหม่ จากวัสดุแบบเดิม เป็นวัสดุแบบใหม่ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ทำไมการเปลี่ยนแปลงบางอย่างถึงเกิดขึ้นได้ยาก ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน และต้องมีการวางแผนที่ซับซ้อน ถึงแม้ว่าองค์กรจะมีเงินมหาศาล มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ที่สั่งสมมานาน ซึ่งหากเปลี่ยนก็อาจจะส่งผลดีต่อบริษัททั้งในระดับของการดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงระดับของภาพลักษณ์ รวมถึงลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะพึงพอใจต่อสินค้า และบริการที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้นอีกด้วย

.

นั่นเป็นเพราะในสมการการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ได้มีตัวแปรอยู่แค่บริษัท กับลูกค้า แต่ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย อย่างเช่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ หลายคนอาจทราบกันว่าทั่วโลกมีการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จากเดิมที่มีการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน มากว่า 130 ปี ซึ่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอาจส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องมีกระบวนการเผาไหม้ แต่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน หลายประเทศมีธุรกิจและผู้คนที่มีความเกี่ยวข้องต่ออุตสาหกรรมเดิม (รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน) เป็นจำนวนมาก หากทั้งประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)) พร้อมกันอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบมากพอ ก็อาจมีปัญหาตามมาอีกมากมายในมิติของสังคม และเศรษฐกิจ เช่นปัญหาการจ้างงาน ปัญหาธุรกิจที่รองรับอุตสาหกรรมแบบเดิมปรับตัวไม่ทัน หรือปัญหาความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมใหม่

.

ทางออกของปัญหานี้ คือการทำความเข้าใจระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงให้ครบรอบด้าน ว่าในอุตสาหกรรมดังกล่าว มีใครที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง กลุ่มคนเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้อง หรือมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หากมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ใครจะเป็น “ผู้มีส่วนได้” และ “ผู้มีส่วนเสีย” ทางแก้ปัญหาของผู้มีส่วนเสียเหล่านั้นคืออะไร และแต่ละภาคส่วนจะต้องมีบทบาทอย่างไรในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากธุรกิจเข้าใจภาพรวมของอุตสาหกรรมแล้ว มีการวางแผนอย่างรอบคอบถี่ถ้วน และสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็จะสามารถสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน โดยการแก้ไขปัญหาเพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลในที่สุด

.

Analyzed by BRANDigest

.

171 views

Комментарии


bottom of page