top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

ธุรกิจ Food Delivery กับแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ธุรกิจ Food Delivery กับแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 โดยสถานการณ์ในประเทศไทยก็กลับมาค่อนข้างน่าเป็นห่วงอีกครั้ง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่สาม ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 20 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ปี พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2564 โดยประกาศให้ ปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคทั่วราชอาณาจักร ส่วนกิจการร้านค้า ร้านอาหาร และตลาด สามารถเปิดบริการได้ตั้งแต่เวลา 04.00 น. - 23.00 น. และห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง มาตรการด้านความสะอาด และตรวจคัดกรองโรคอย่างเข้มข้น โดยต้องปิดให้บริการภายในเวลา 21.00 น. อีกด้วย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ที่หลายร้านเปิดให้มีบริการซื้อกลับบ้าน (Take Away) และจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อเอื้ออำนวยต่อการกักตัว (Quarantine) และการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของประชาชน

.

ธุรกิจ Food Delivery จึงเป็นหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารออนไลน์ ผ่าน Application ด้วยความสะดวกของการสั่งซื้ออาหาร พร้อมกับส่วนลด Promotion ที่ดึงดูดให้เกิดการใช้บริการ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสามารถเลือกซื้ออาหารอย่างหลากหลาย ในราคาที่คุ้มค่า และได้รับความปลอดภัย เอื้อต่อการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้คนหันมาสั่งอาหารผ่าน Application กันมากขึ้น ข้อมูลจากผู้ให้บริการ Food Delivery รายหนึ่ง โดยการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก - ขนาดกลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นระบาดของ COVID-19 มีจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ มีแนวโน้มที่จะเคยชินกับความสะดวกสบาย และความรู้สึกคุ้มค่าจากการสั่งอาหารแบบให้ไปส่งยังที่พัก (Food Delivery)

.

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ถูกใช้ในการบริการส่งอาหารมากขึ้นอย่างมาก และส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกสูงขึ้นตามไปด้วย ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การสั่ง Food Delivery แต่ละครั้ง สร้างขยะมากถึง 7 ชิ้น ได้แก่ กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2562 ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจ Food Dellivery มีมูลค่าสูงถึง 3.3-3.5 หมื่นล้านบาท จากยอดสั่งซื้อ 20 ล้านครั้ง ก่อให้เกิดขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกสูงถึง 140 ล้านชิ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะที่เกิดจาก Food Delivery จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เนื่องจากขยะพลาสติกเป็นขยะที่ใช้ระยะเวลาย่อยสลายนานถึง 400 ปี วิธีการกำจัดขยะพลาสติกอย่างผิดวิธี จึงส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ข้อมูลจากสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การฝังกลบขยะพลาสติกร่วมกับขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ จากการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ ส่งผลให้แม่น้ำสกปรก มีกลิ่นเน่าเหม็น ไม่เอื้ออำนวยต่อการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ อีกทั้งยังทำให้สภาพแหล่งน้ำ ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำอีกด้วย

.

LINE MAN หนึ่งในผู้ประกอบการฟู้ดเดลิเวอรี่ของประเทศไทย จึงได้จัดทำแคมเปญเพื่อรณรงค์ลดขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารออนไลน์ โดยเพิ่ม Feature “SAY NO TO PLASTIC” บน LINE MAN Application ให้กับผู้บริโภคที่ไม่ต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ปฎิเสธการรับช้อนส้อม พลาสติก และใช้ถุงผ้าในการขนส่งอาหารแทนถุงพลาสติก โดย Jayden Kang ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร LINE ScaleUp แห่ง LINE ประเทศไทย ได้ตั้งเป้าหมายด้านการบริหารงาน ผลักดันให้ LINE MAN เป็นผู้นำด้านธุรกิจ Delivery อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมความพร้อมสนับสนุนการลดปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ร่วมกับร้านอาหารอันเป็นที่นิยม อย่าง Bonchon, Sizzler, และ Burger King ส่วน Grab Food อีกหนึ่งผู้ให้บริการ Food Delivery ก็ได้จัดทำแคมเปญ “เริ่มรักษ์โลกอย่างจริงจังด้วยการบอกลาการแจกช้อนส้อมพลาสติก” เพื่อช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการใช้บริการ Grab Food โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยจะไม่มีการแจกช้อนส้อมพลาสติกในทุกการสั่งซื้อ แต่หากผู้บริโภคต้องการใช้ช้อนส้อมพลาสติกจริง ๆ ต้องกดปุ่มขอรับ (Request) เพื่อเป็นการให้ผู้บริโภคได้คิดทบทวนอีกครั้งถึงความจำเป็น และลดโอกาสในการสร้างขยะพลาสติก ซึ่งในอนาคต Grab Food จะมีการวางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างลูกค้า ร้านอาหาร และคนขับ (Partner) อีกด้วย

.

แคมเปญเพื่อลดการก่อให้เกิดขยะพลาสติกของ LINE MAN และ Grab Food นับเป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ดีของการพัฒนาเพื่อการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม Food Delivery ธุรกิจสามารถเรียนรู้จากกรณีนี้ โดยพิจารณาว่าการดำเนินธุรกิจของตนได้สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างไรต่อสังคม หรือสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องหาทางเพื่อลดผลกระทบเหล่านั้น ด้วยการผลักดันของธุรกิจ สร้างความเข้าใจในผลกระทบที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดี เพื่อให้สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และยกระดับอุตสาหกรรม ให้เกิดความยั่งยืน เพื่อโลกที่ดีกว่าต่อไป

.

Analyzed by BRANDigest

.

#BetterCorporate#BWi#BetterWorld#3Ps#NetPositiveImpact.

1,429 views

Comments


bottom of page