นับตั้งแต่เกิดโลกาภิวัฒน์เมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 20 ภาคอุตสาหกรรมจากฝั่งตะวันตกได้แผ่อิทธิพลไปทั่วโลก และเติบโตจากสิ่งที่เรียกว่า ระบบ (System) ที่ช่วยให้กระบวนการในการได้มาซึ่งทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าไปจนถึงการผลิตสินค้ามีความชัดเจน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการมหาศาลในตลาดได้
การมีระบบที่เข้มแข็งกลายเป็นอำนาจในการต่อรองของภาคธุรกิจในอดีต เพราะขนาดตลาดที่ยังมีพื้นที่ให้ธุรกิจเข้าไปเล่นอีกมากมาย อีกทั้งความต้องการส่วนมากก็ยังไม่ถูกเติมเต็ม การตัดสินใจของผู้บริโภคยังคงมองไปที่ตัวสินค้าหรือบริการเป็นหลัก พวกเขาแทบจะไม่สนใจว่าธุรกิจจะผลิตสินค้าอย่างไร เอาวัตถุดิบมาจากไหน หรือเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างกระบวนการเหล่านั้น ซึ่งระบบปฏิบัติการดังกล่าวสามารถเรียกง่าย ๆ ว่า “Supply Chain” เพราะมีเป้าหมายเพียงแค่การนำส่งสินค้าไปให้ถึงมือผู้บริโภคให้ได้ อย่างไรก็ตาม วิธีคิดดังกล่าวดูเหมือนจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน หลังจากที่วิวัฒนาการการผลิตมีความทันสมัยมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การทำธุรกิจไม่ได้ยากเหมือนในอดีตอีกต่อไป ด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และช่องทางในการขายที่หลากหลายมากขึ้น ใคร ๆ ก็อยากที่จะเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง สินค้าและบริการที่ตอบสนองด้านประโยชน์ไม่ได้หายาก แต่สินค้าและบริการที่ตอบสนองด้านคุณค่าที่สังคมให้ความสำคัญคือสิ่งที่ผู้บริโภคถามหา จากที่ธุรกิจเคยมีแค่ “Supply Chain” มาวันนี้ต้องมองให้เห็นเป็น “Value Cycle” ให้ได้ เพราะนี่กลายเป็นเหตุผลที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกสนับสนุนธุรกิจใด เช่น ธุรกิจร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในโลกอย่าง Starbucks ให้ความสำคัญกับผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่คุณค่ามากกว่าแค่ในห่วงโซ่อุปทาน โดยใน Starbucks' Global Social Impact Report ระบุว่าตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจ Starbucks ได้ฝึกฝนและให้ความรู้แก่เกษตรกรที่ปลูกกาแฟไปกว่า 160,000 คน 99% ของเมล็ดกาแฟเกิดจากการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นธรรม รวมถึงมีการรณรงค์ให้พกแก้วน้ำใช้ซ้ำ (Reusable cup) ซึ่งในปีที่ผ่านมา Starbucks ลดการใช้แก้วใช้แล้วทิ้งไปได้กว่า 105 ล้านแก้ว นั่นแสดงให้เห็นถึงการสร้างคุณค่าที่มากกว่าการสร้างผลงานสินค้าที่คุ้มราคาให้กับผู้บริโภค เพราะเมื่อพวกเขาเริ่มถามหา “ที่มา” ของสิ่งที่พวกเขาจะเสียเงินซื้อ เช่น กาแฟนี้มายังไง ปลูกที่ไหน ให้ราคาที่เป็นธรรมกับเกษตรกรหรือเปล่า ยังไม่พอ พวกเขายังเริ่มถามหา “ที่ไป” หลังจากที่พวกเขาซื้อแล้วด้วยซ้ำ แล้วบรรจุภัณฑ์ล่ะ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไหม สามารถรีไซเคิลได้หรือเปล่า เป็นต้น โจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจในตอนนี้ก็คือ การสะท้อนจุดยืนในด้านอื่น ๆ ที่สังคมให้ความสำคัญ ในขณะที่ยังคงไว้ซึ่งสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภค หากธุรกิจให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องระหว่างทางทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ก็เท่ากับว่าธุรกิจกำลังสร้างและดูแลระบบนิเวศของตัวเอง ให้เติบโตและแข็งแรง พร้อมก้าวสู่สถานะที่ดีกว่าต่อไป ที่มา : 2019 Starbucks Global Social Impact Report World Economic Forum #BetterCorporate #BWi #BetterWorld #3Ps #NetPositiveImpact
Comentarios