top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

จากขยะสู่แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Updated: Jan 29, 2021


สวีเดน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นขยะจากครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ก็จะถูกรวบรวมและจำแนกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติและความเหมาะสม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วงจร ได้แก่ การบำบัดน้ำและกากของเสีย (Wastewater Treatment and Sludge Management) การจัดการขยะมูลฝอย (Solid Waste Management) ระบบก๊าซชีวมวล (Biogas System) และการจัดการพลังงานส่วนเกิน (Surplus Energy Management)

.

โดยขยะจะถูกจัดการด้วยการคัดแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ในขั้นตอนต่อ ๆ ไป ด้วยเหตุนี้ขยะเกือบทั้งหมดจึงถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผ่านกระบวนการหมักเป็นก๊าซชีวมวลและปุ๋ย หรือนำไปผลิตพลังงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยประมาณ 50% ถูกนำกลับมาใช้เป็นพลังงาน ผ่านโครงการจัดการขยะสู่พลังงาน (Waste to Energy Program) จึงทำให้ขยะปริมาณกว่า 450 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เหลือเพียงไม่ถึง 1% ที่ต้องนำไปฝังกลบ ในส่วนของการเผาขยะในโรงเผา (Waste Incineration) ที่นอกจากจะจัดการขยะได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปีแล้ว ยังสามารถผลิตความร้อนและกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย นั่นจึงทำให้ขยะกลายเป็นสิ่งมีค่า และเป็นทรัพยากรสำคัญที่นำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

.

Gothenburg เมืองใหญ่อันดับ 2 ของสวีเดน ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสแกนดิเนเวีย และมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปเหนือ ถือเป็นเมืองที่ดำเนินโครงการจัดการขยะสู่พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินงานของบริษัท Göteborg Energi บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ จนได้รับรางวัล “Modernization of an existing scheme” จากงาน Global District Energy Climate Awards ในปี พ.ศ. 2554 และได้รับเลือกจาก European Commission ให้เป็นผู้นำโครงการวิจัย “Celsius” เพื่อส่งเสริมการนำความร้อนเหลือทิ้ง (Waste Heat) ในปี พ.ศ. 2556 นับเป็นการเริ่มต้นของระบบความร้อนของ Gothenburg ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการพัฒนาระบบความร้อน แต่ละครัวเรือนต่างผลิตความร้อนจากการเผาถ่านหิน และน้ำมัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ ส่วนพลังงานความร้อนรูปแบบใหม่นี้ นอกจากจะช่วยให้ชาวเมืองได้ใช้พลังงานที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมอีกด้วย

.

ปัจจุบันระบบโครงข่ายความร้อนของ Göteborg Energi ครอบคลุม Gothenburg เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ให้บริการความร้อนแก่ชาวเมืองคิดเป็น 90% ของอาคารที่อยู่อาศัยทั้งหมด และประมาณ 20% ของจำนวนบ้านเดี่ยวทั้งหมด นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายความร้อนของเทศบาลเมืองรอบ ๆ ได้แก่ Mölndal Partille Ale และ Kungälv ซึ่งโครงข่ายที่เชื่อมโยงนี้เองทำให้ทั้ง 4 เมืองได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อีกด้วย

.

Gothenburg และ Göteborg Energi เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นในอีกหลายเมืองของสวีเดนและประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยนอกเหนือจากการวิจัย การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จก็คือการได้รับความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญ อย่างในกรณีของสวีเดน การเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีฝังกลบขยะ และการบังคับใช้กฎหมายห้ามการฝังกลบขยะ เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นทางเลือกอื่นในการจัดการขยะ อันนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด

.

Analyzed by BRANDigest

.


203 views

Comments


bottom of page