เมื่อมองย้อนกลับไปในยุคที่ความต้องการในตลาดยังคงมีความชัดเจน โดยอิงอยู่บนความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ หน้าที่ของธุรกิจ คือการตอบสนองความต้องการเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกหมุนไป ปัจจัยต่าง ๆ เข้ามามีผลต่อความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือเทคโนโลยี ทำให้การตลาดเกิดความซับซ้อนมากขึ้น การทำธุรกิจจึงไม่สามารถดำเนินด้วยวิถีเดิมได้อีกต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ต้องแปรผันตามธุรกิจ คือ การให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ ในอดีต ความสำเร็จของธุรกิจอาจวัดได้จากปริมาณการผลิตสินค้า โดยมี “แรงงานมนุษย์” อยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาแทนที่ มนุษย์อาจต้องเป็นมากกว่าแรงงาน
แนวคิดที่มีต่อ ทรัพยากรมนุษย์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมนุษย์พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพ ได้จากการสั่งสมความรู้ ประสบการณ์ และความชำนาญ มนุษย์จึงไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่าย (Cost) ของธุรกิจ แต่พวกเขาเป็น ทุน (Capital) ที่จะสร้างความมั่นคง และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน (Sustainable Competitive Advantage) จากรายงาน Deloitte Global Human Capital Trends 2019 เปิดเผยว่า ผู้ว่าจ้างกว่า 87% ให้ความสำคัญกับบริการ หรือโปรแกรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่พนักงาน และ 77% มีแนวโน้มที่จะจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงาน
ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน ยกตัวอย่าง บริษัท SCG Logistics ที่มีการเปลี่ยนระบบการทำงานเดิมให้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัล และเพื่อไม่ให้พนักงานกังวลว่าจะเสียมูลค่าการทำงาน หรือเผชิญกับภาวะตกงาน SCG Logistics จึงมีนโยบายเตรียมความพร้อม และมุ่งส่งเสริมทักษะใหม่ ๆ ในการทำงาน (Up-Skill, Re-Skill) ของพนักงาน โดยจะได้รับการพัฒนาทักษะผ่านหลักสูตรฝึกอบรม (Program Training) ที่เรียกว่า “70-20-10” ซึ่งคือการมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติจากการทำงานจริง การทำงานโดยมีการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและการเรียนรู้ทฤษฎีในการทำงานตามลำดับ พนักงานได้ค้นพบทักษะและศักยภาพอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัว นำไปสู่การจัดสรรงานในแต่ละแผนกที่เหมาะสมกับพนักงานเหล่านั้นต่อไปด้วย
เมื่อมนุษย์เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ “การลงทุน” เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่ดีกว่า ผ่านการฝึกฝนทักษะ สร้างชุดความคิดเพื่อการพัฒนาที่ถูกต้อง และสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็น จึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจที่ดีกว่าในอนาคต
ที่มา:
SCG
Deloitte
留言