นับว่าการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น หลายธุรกิจต้องปรับตัวเข้ากับบริบทสังคมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ต้องรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมถึงสร้างความสำเร็จและการเติบโตให้กับองค์กรภายใต้สภาวะที่ท้าทายกว่าเดิม ดังนั้นการตีความ “ความสำเร็จของธุรกิจ” จึงมีความสำคัญ และลึกซึ้งมากขึ้น เพราะแม้ธุรกิจวันนี้จะมีกำไรสม่ำเสมอ ก็ไม่ได้การันตีการทำกำไรในอนาคต หรือแม้ธุรกิจจะมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็อาจถูกลืมได้อย่างรวดเร็ว เหมือนกระแสความนิยมชั่วคราวที่พัดผ่านมาและผ่านไป ในโลกที่ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่แน่นอนที่สุด ธุรกิจควรตีความความสำเร็จ ให้มีหน้าตาอย่างไร ถึงจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน? เป็นคำถามที่ควรได้รับคำตอบโดยเร็วทีเดียว
.
หลายองค์กรอาจเชื่อว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จที่เข้าใจง่าย และเห็นได้ชัดเจนที่สุดปรากฏอยู่ในรายงานประจำปี ผ่านศัพท์เฉพาะทางการเงิน อย่าง EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) หรือ Market Capital (มูลค่าหลักทรัพย์จดทะเบียนตามราคาตลาด) สะท้อนให้เห็นถึงการมีรายได้ และกำไรของธุรกิจ ซึ่งก็เป็นคุณค่าสำคัญในโลกทุนนิยม แม้จะขาดมิติที่ว่ารายได้ และกำไรเหล่านั้น สร้างคุณค่าอย่างไรต่อแบรนด์ ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมบ้างก็ตาม ไม่เพียงแต่ในระดับของธุรกิจ แต่ในระดับของประเทศ การชี้วัดความสำเร็จผ่าน GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ที่แม้จะสะท้อนความสามารถในการแข่งขันได้ดี แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความสำเร็จได้จริงหรือไม่ กรณีตัวอย่างเปรียบเทียบที่น่าสนใจคือทั้งธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจค้าอาวุธต่างก็สะท้อนการเติบโตด้วยค่า GDP ที่อาจไม่ต่างกัน เห็นได้ชัดว่ามีบางมิติที่ขาดหายไป นอกจากนี้การตีความความสำเร็จจาก “ภายนอก” (Outside In) ยังเห็นได้จากการที่หน่วยงานมากมายพยายามที่จะสร้างมาตรฐานความสำเร็จด้วยการประเมินผล และสร้างเกณฑ์ชี้วัด ทั้งในรูปแบบของการจัดอันดับ และการยืนยันคุณภาพ แม้ตัวชี้วัดจากหลายหน่วยงานจะเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับอย่างมาก แต่คงเป็นการยากที่จะบอกว่าตัวชี้วัดที่ใช้จัดอันดับองค์กรแบบต่าง ๆ ในปัจจุบันจะสามารถสร้างมาตรฐาน (Standardized) การเป็นองค์กรที่ดีกว่าได้ครบถ้วนทุกมิติ สำหรับทุกองค์กรจริง ๆ
.
การตีความความสำเร็จของธุรกิจจาก “ภายใน” (Inside Out) อาจเป็นส่วนสำคัญที่ขาดหายไปในหลายองค์กร เนื่องจากแต่ละธุรกิจดำเนินอยู่บนสภาพแวดล้อม และธรรมชาติที่ต่างกัน ดังนั้นเส้นทางในการพัฒนาสินค้าและบริการ ไปจนถึงการเติบโตขององค์กรจึงแตกต่างกันตามไปด้วย ธุรกิจควรเป็นผู้ที่เข้าใจแก่นแท้ของตัวเองมากที่สุด เพื่อใช้จุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ สร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้กับตัวธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การตีความความสำเร็จ จึงอาจต้องเกิดจากภายใน กล่าวคือการออกแบบขององค์กรเองว่า อยากให้องค์กรเติบโตไปในแนวทางไหน สามารถสร้างคุณค่าในแต่ละด้านได้อย่างไร และปักหมุดหมายความสำเร็จในทุกมิติ ในแบบของตัวเอง
.
ธุรกิจไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีตีความความสำเร็จ จากภายนอกสู่ภายใน (Outside In) หรือ จากภายในสู่ภายนอก (Inside Out) แต่ควรสร้างสมดุลที่ดีระหว่างสองฝั่ง เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างแนวทางการเติบโตในแบบของตนเอง พัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นในทุก ๆ ปี อย่างรอบด้านทุกมิติ แต่ก็เข้าใจระดับความเข้มข้นของการแข่งขันในตลาด สามารถเปรียบเทียบระดับการเติบโตกับคู่แข่งได้ และสามารถสื่อสารความคืบหน้าไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนอย่างสะดวก แม้การตีความความสำเร็จจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่หากองค์กรเข้าใจและนำไปปรับใช้อย่างถูกวิธี การตีความความสำเร็จใหม่ จะสร้างการเติบโตที่ดีกว่าได้อย่างยั่งยืน
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments