วิสัยทัศน์ของผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อองค์กร ผู้คนในองค์กร และสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อองค์กรดังกล่าวถูกพูดถึงในมุมของประเทศ เดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลอย่างมากในโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา ได้เปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี จาก Donald Trump สู่ยุคสมัยของ Joe Biden ทั้งสองมีทัศนคติต่อประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่ Trump ไม่สนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และมุ่งหน้าพัฒนาด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ Biden มองว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระเร่งด่วน ที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ จึงปรับทิศทางของนโยบายในสมัยของ Trump จากหน้ามือเป็นหลังมือ สร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ และแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จาก..
.
การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยคณะทำงานดังกล่าวประกอบไปด้วยผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ และความพร้อมที่จะดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น Gina McCarthy หัวหน้าสำนักงานนโยบายสิ่งแวดล้อมประจำทำเนียบขาว เคยทำงานในสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ในรัฐบาล Obama, Jennifer Granholm รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยทำงานผลักดันพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในรัฐบาลของ Obama, Michael Raegan หัวหน้าสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ มีประสบการณ์ในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา นอกจากนี้ Biden ได้แต่งตั้ง John Kerry อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาล Obama เป็นผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศ (Special Presidential Envoy for Climate) โดย Kerry คือสถาปนิกผู้ให้กำเนิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกล่าสุดอย่าง Paris Agreement ในปี พ.ศ. 2559
.
จากชัยชนะในรัฐจอร์เจียส่งผลให้พรรค Democrats มีเสียงข้างมากในสภาสูงสหรัฐฯ นั่นทำให้ Democrats ครอบครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นี่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ Biden สามารถดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าและใช้งบประมาณสูงได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ Biden เริ่มทำ คือการย้อนคืนมาตรการที่ Trump ทำไปในยุคสมัยนั้น เช่น การผ่อนคลายกฎหมายปกป้องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์, การผ่อนคลายเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน, การผ่อนคลายกฎหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการลดมาตรฐานด้านพลังงานของรถยนต์ นอกจากนี้ Biden ยังพาสหรัฐอเมริกากลับมาเป็นสมาชิก และให้การสนับสนุนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขทั่วโลก รวมถึงกลับเข้าร่วมข้อตกลง Paris Agreement อีกครั้ง เพื่อผลักดันให้เกิดกลไกระดับโลกที่จะช่วยแก้ปัญหาใหญ่อย่างวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
ในด้านของพลังงาน Biden สนับสนุนให้ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือ 0 ภายในปี พ.ศ. 2578 จึงมีแผนจัดทำนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาดมากมาย เช่น ออกนโยบายทางภาษีที่จูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า, สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับแบตเตอรี่ ซึ่งล่าสุดมีแผนจะเปลี่ยนรถยนต์ทั้งหมดที่ใช้งานโดยภาครัฐ กว่า 650,000 คันให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมการประกาศขยายจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอีกกว่า 500,000 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
.
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางในการบริหารประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีจากประเทศผู้นำโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน หากทุกประเทศเข้าใจถึงความสำคัญ ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่า นี่อาจเป็นทางออกของวิกฤติสิ่งแวดล้อมก็เป็นได้
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments