top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

"KPI" หรือ "OKR"



“หากคุณไม่สามารถประเมินผลมันได้ คุณก็ไม่สามารถบริหารจัดการมันได้” ประโยคอันโด่งดังของ Peter Drucker หนึ่งในนักคิดและผู้นำด้านการบริหารจัดการแนวหน้าของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการประเมินผลการทำงานในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกธุรกิจ

เครื่องมือที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้วัดหรือประเมินผล อย่าง KPI (Key Performance Indicator) และ OKR (Objectives and Key Results) ที่หลายธุรกิจกำลังใช้อยู่ หรือวางแผนว่าจะนำมาใช้นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร แล้วอะไรที่ธุรกิจควรจะเลือกใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผล เพื่อให้ตัวเองสามารถบรรลุเป้าหมายในการดำเนินการอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เริ่มต้นจาก KPI ที่เหมาะกับงานที่มีข้อกำหนดที่ค่อนข้างชัดเจน และตรงไปตรงมา ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งเดือนต้องสามารถเซ็นสัญญาให้ได้ 10 ฉบับ ต้องโทรติดต่อหาลูกค้าใหม่ 100 คน หรือต้องเขียน 50 บทความเป็นต้น ซึ่งความชัดเจนดังกล่าว ก็จะช่วยให้พนักงานมองเห็นว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง แปลง่าย ๆ ว่ามันคือการบอกพนักงานว่าต้องทำอะไร และต้องทำมากแค่ไหน มันถึงจะคุ้มค่ากับผลตอบแทน และบริษัทจะสามารถอยู่ได้ ส่วน OKR จะพูดถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น (Objective) แทนที่จะต้องบอกพนักงานว่าต้องเซ็นสัญญาให้ได้ 10 ฉบับ OKR อาจจะบอกแค่ว่า ปีนี้บริษัทต้องหาเงินให้ได้ 10 ล้าน (จะเป็นสัญญาฉบับเดียว 10 ล้านก็ได้) แล้วให้พนักงานออกแบบว่าอะไรบ้างที่พวกเขาต้องทำให้สำเร็จในแต่ละก้าว (Key Result) เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่ง Key Result นั้นก็อาจจะเป็นการติดต่อลูกค้าใหม่ 100 ราย ก็ได้ การใช้ OKR ในองค์กร ก็ต้องมั่นใจว่าคนในองค์กรมีความเข้าใจ และความสามารถมากพอในการออกแบบเส้นทางที่จะทำให้ทั้งตัวพวกเขา และองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อย่างไรก็ตาม หากลองมองดี ๆ ก็จะพบว่า KPI นั้น ก็เปรียบเสมือน Key Result ของ OKR ทั้งสองไม่ใช่สิ่งที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง การเลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้อะไรก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของงาน คน เวลา หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ เพราะหากธุรกิจเลือกใช้ KPI หรือ OKR โดยปราศจากความเข้าใจในหลักคิด และวิธีการนำไปใช้อย่างถ่องแท้ ก็อาจสร้างปัญหา หรือความไม่มีประสิทธิภาพตามมาภายหลัง ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่ธุรกิจควรทำคือการทำความเข้าใจทั้งเครื่องมือและตัวเองให้มากที่สุด เพราะสุดท้าย มันอาจจะเป็นการวัดผลที่ผสมผสานเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของธุรกิจ และการเติบโตสู่สถานะที่ดีกว่าในอนาคต

ภาพ: Unsplash

184 views

Comments


bottom of page