ในยุคที่ความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมเครื่องประดับอย่างอัญมนี ที่ในอดีตมักมีประเด็นของเรื่องการใช้แรงงานในเหมืองแร่ผิดกฎหมาย ใช้แรงงานเด็ก การกดขี่แรงงาน และการให้ค่าแรงต่ำกว่าเกณฑ์ อีกทั้งกระบวนการผลิตอัญมณีบางประเภทก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ก่อให้เกิดมลภาวะจากการระเบิดหิน การทำลายแหล่งน้ำใต้ดิน และสร้างมลพิษในดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น โดยตัวอย่างพื้นที่ชุมชนเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น การปนเปื้อนตะกั่ว ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และปัญหามลพิษทางอากาศ จากการระเบิดหินปูน ที่ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี . จากผลกระทบดังกล่าว องค์กรต่าง ๆ จึงได้กำหนดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติในการทำเหมืองแร่ที่ดี อย่างเช่นข้อกำหนดจาก World Diamond Council (WDC) องค์การที่ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ผลิตและผู้ค้าเพชรมากกว่า 50 ราย เพื่อหาทางสกัดกั้นการค้าเพชรที่ผิดกฎหมาย ที่ได้ใช้และส่งผลให้ปัจจุบัน 99.8% ของปริมาณเพชรที่ผลิตได้ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก มาจากแหล่งที่ปราศจากความขัดแย้งและความรุนแรง หลายแบรนด์ทั่วโลกได้เลือกใช้อัญมณี จากแหล่งที่มาที่ได้มาตรฐานและมีใบรับรอง โดยหนึ่งในมาตรฐานการรับรองสากลที่เป็นที่ยอมรับ คือมาตรฐานการรับรอง Kimberley Process ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ เพื่อคุ้มครองประเทศที่มีการทำเหมืองแร่ โดยไม่สร้างผลกระทบเชิงลบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ผิดกฎหมาย . คงไม่แปลก หากเพชรจะเป็นเครื่องหมายของความหรูหรา ความมั่งคั่ง และการประสบความสำเร็จ แต่จะเป็นไปได้ไหมหากเพชร จะกลายเป็นเครื่องหมายของการยุติผลกระทบเชิงลบจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ การเยียวยาสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่า แม้หลายแบรนด์จะลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากอุตสาหกรรมของตน โดยการสนับสนุนเพชรจากแหล่งที่ปราศจากความขัดแย้งและความรุนแรงแล้ว แต่มันก็ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาในอุตสากหรรมนี้เท่านั้น แบรนด์เครื่องประดับอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Pandora เข้าใจ และได้มุ่งสู่การแก้ปัญหาที่ลึกลงไปอีกขั้น โดยได้หันมาปรับใช้กลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างยอดขาย โดยยกเลิกการใช้ อัญมณี หรือเพรชที่ขุดจากเหมืองธรรมชาติ (Mined Diamond) และหันมาใช้อัญมณี หรือเพชรสังเคราะห์ (Laboratory-Made Diamonds) .
ผลึกของเพชรแท้ที่สังเคราะห์โดยมนุษย์ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เกิดเป็นเพชรที่ให้คุณสมบัติเหมือนเพชรจริงทุกประการ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ส่งผลให้สินค้ามีราคาถูกลง ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าของ Pandora ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดย Pandora ได้ตั้งเป้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการผลิตให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ปัจจุบัน 71% ของเครื่องเงิน และทองที่ใช้ผลิตเครื่องประดับได้มาจากการรีไซเคิล ก่อนที่จะเป็น 100% ในอนาคต เพื่อลดปัญหาขยะ ยิ่งไปกว่านั้นยังร่วมมือกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระดมทุนจากส่วนแบ่งของยอดขาย เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย รวมถึงส่งเสริมศักยภาพเด็ก โดยเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ของ Pandora จะถูกวางขายในประเทศสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรก . กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ Pandora เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ “คุณค่า” ของการทำเพื่อโลกที่ดีกว่า อันเป็นหนึ่งในเทรนด์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และผู้บริโภคจะสัมผัสได้ว่าการเลือกซื้อเครื่องประดับจาก Pandora สร้างคุณค่าให้กับผู้คนรวมถึงสิ่งแวดล้อมได้ นี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ว่า แบรนด์สามารถลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น และสร้างทางเลือกที่ดีกว่าให้แก่ผู้บริโภค ผ่านการใช้เทคโนโลยี การไม่หยุดพัฒนา และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ . Analyzed by BRANDigest . #BetterCorporate #BWi #BetterWorld #3Ps #NetPositiveImpact
Commenti