ผู้บริโภคไม่รู้ตัวเลยว่า ความต้องการของพวกเขาเกิดขึ้นจากตัวเอง หรือถูกสร้างขึ้นโดยธุรกิจ และสำหรับธุรกิจที่ต้องการแสวงหาผลกำไร การตอบสนองความต้องการและการสร้างความต้องการให้เกิดขึ้น ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย
ธุรกิจประสบความสำเร็จในการสร้างผลกำไรอย่างมาก จากขนาดเศรษฐกิจของโลก เมื่อ 200 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2363) ขนาดเศรษฐกิจโลกมีมูลค่าเพียง 1.2 ล้านล้านดอลลอร์สหรัฐ เล็กกว่ามูลค่าทั้งหมดของ Apple บริษัทเดียวในปัจจุบัน ซึ่งมีขนาด 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของโลกคิดเป็นมูลค่า 91.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของโลกต้องพบเจอกับวิกฤตหลายครั้ง สำหรับวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ International Monetary Fund (IMF) ประเมินว่า จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2563 หดตัวที่ร้อยละ 3 โดยจะต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression และถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกัน
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่เพียงส่งผลต่อตัวเลข GDP ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่านั้น หากแต่ยังตั้งคำถามกับภาคธุรกิจว่า กำไรยังคงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการแสวงหามากที่สุดอยู่หรือไม่ การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน จากตัวเลขค่าสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นหลังจากการหยุดชะงักลงของธุรกิจบางประเภท และผู้คนจำนวนมหาศาลที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตมาถึงทุกวันนี้ มีความสำคัญมากเพียงใด
ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องมองหาการเติบโตรูปแบบใหม่ที่จะสร้างการเติบโตร่วมกันทั้งระบบนิเวศ ให้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำไร เติบโตไปพร้อมกัน สู่สถานะที่ดีกว่า อย่างยั่งยืน
ที่มา:
Bank of Thailand (BOT)
International Monetary Fund (IMF)
Comments