หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Climate Change เพื่อบรรยายถึงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติมากมายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่พายุถล่ม ไฟป่า คลื่นยักษ์ ไปจนถึงพายุหิมะ ภัยพิบัติเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายมากมายต่อสิ่งปลูกสร้าง การใช้ชีวิตของผู้คน และในบางครั้ง ต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก จากการประชุม Climate Adaptation Summit ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติได้คร่าชีวิตพลเมืองโลกไปเกือบครึ่งล้านราย (ราว 4.8 แสนราย) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังอาจ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลยกระดับสูงขึ้นท่วมบางพื้นที่ สิ่งมีชีวิตมากมายสูญพันธุ์ไปทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ปะการังถูกทำลาย และบางพื้นที่ เช่น แอฟฟริกาจะร้อนจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้
.
ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และหลากหลายเกินกว่าจะบรรยายง่าย ๆ เป็นภาษาไทยของคำว่า Climate Change เป็นที่มาของ โครงการคำพูดเปลี่ยนโลก (Words Change the World) โดยน่านแซนด์บ็อกซ์ (Nan Sandbox) โครงการทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดิน และป่าในจังหวัดน่าน ภายใต้การบริหารงานของนายบัณฑูร ล่ำซำ อดีตประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับโครงการรักษ์ป่าน่าน จัดการประกวดเสนอคำเรียก Climate Change เป็นภาษาไทยแบบสั้น ๆ เข้าใจง่าย ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1,700,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เพื่อให้มีคำที่ใช้สื่อสาร ประชาสัมพันธ์อย่างเหมาะสมในภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยเข้ามาค้นคว้า ทำความเข้าใจเรื่อง Climate Change มากขึ้น ซึ่งจากการประกวดในปีที่ผ่านมา มีผู้สนใจ และเข้าร่วมโครงการกว่า 4,000 คน นับว่าประสบความสำเร็จมาก และได้ผู้ชนะเลิศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
คำเรียกชื่อ Climate Change ภาษาไทยที่ชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท ได้แก่ “ภาวะโลกรวน” โดยนายพนัส จั่นสังข์ จากแนวคิดที่ว่าถ้าพูดถึงวิกฤตการณ์ภูมิอากาศที่เรียกทับศัพท์ว่า Climate Change คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าหมายถึงภาวะโลกร้อนเพียงเท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว Climate Change ไม่ได้เจาะจงแค่เรื่องโลกร้อน แต่ยังครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นํ้าท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง ลูกเห็บถล่ม ฝนหลงฤดู พายุรุนแรงขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมาย เราจะเห็นว่า Climate Change น่ากลัวกว่าที่เราเคยรู้จัก จึงเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า “ภาวะโลกรวน” สั้น ๆ ติดหูง่าย (จากภาวะโลกร้อนที่คุ้นหู) ได้ใจความ ทั้งนี้ ผลการตัดสินมาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านงานเขียน นักภาษาศาสตร์ นักวิชาการและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ ได้คัดเลือก 20 ผลงานที่ดีที่สุด พร้อมจัดให้มีการสัมภาษณ์เจ้าของผลงาน โดยพิจารณาจากเนื้อหาตรงตามหัวข้อที่กำหนด อธิบายตามโจทย์อย่างชัดเจน ถูกต้อง มีความงดงามของภาษา มีความหมายน่าจดจำ ทันสมัย มีความคิดสร้างสรรค์ และองค์ประกอบอื่น ๆ อาทิ ความเรียบร้อย การสะกดคำ นอกจากนี้ ยังเปิดให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมโหวตเลือกผลงานที่ชื่นชอบ ซึ่งคะแนนจากการโหวตและการสัมภาษณ์ถือเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนในรอบชิงชนะเลิศ
.
แม้การประกวดจะเสร็จสิ้นลงไป และได้ผู้ชนะการประกวดคำมาแล้ว แต่นี่ก็เปรียบเสมือนเพียงจุดเริ่มต้นของการสื่อสารให้ทุกคนทราบถึงความรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นภายใต้ “ภาวะโลกรวน” หากทุกภาคส่วนเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และร่วมกันแม้เพียงคนละนิด ดำเนินการในส่วนที่ตนเองสามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะสามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืน และโลกที่ดีกว่าได้ในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
#EnvironmentalEnhancement #BWi #BetterWorld #3Ps #NetPositiveImpact
Comments