คงมีหลายครั้งที่เราได้ยินว่า การทำธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนนั้น ต้องดำเนินการให้ครบทั้งสามด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก ระหว่าง เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่บ่อย ๆ ก็คือ “สิ่งแวดล้อม”
แต่เอาเข้าจริง ทุกคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่า ถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อม ย่อมไม่มีสิ่งมีชีวิตใดอยู่ได้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า วิกฤตที่มวลมนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง
ส่วนใหญ่ เราจะเห็นภาคธุรกิจถูกเรียกร้องให้หันมารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจเท่านั้น “ภาครัฐ” ในฐานะผู้บริหารจัดการประเทศ ก็ต้องลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเช่นกัน
การรณรงค์ให้ Work from Home หรือการทำงานที่บ้านของภาครัฐ นำมาซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การทำงานที่บ้านอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนขึ้น จากบรรจุภัณฑ์ ใส่อาหารที่ส่งตรงถึงบ้าน เช้า กลางวัน เย็น
ขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทั้งจากบรรจุภัณฑ์อาหาร และขยะทางการแพทย์ก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่การจัดการกับขยะอย่างถูกวิธีก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการบริหารจัดการ ลองคิดเล่น ๆ ถ้าตัวเลข 10% ของคนไทยกว่า 65 ล้านคน แต่ละคน ทิ้งหน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อวัน ประเทศเราจะมีขยะจากหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วมากกว่า 195 ล้านชิ้นต่อเดือน หากขยะเหล่านั้นกระจัดกระจายและไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง นอกจากจะเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้คนอีกมากมายแล้ว ยังเป็นปัญหาใหญ่ทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ถึงแม้ว่ารัฐจะทุ่มเงินลงทุนไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง โดยปัจจุบันภาครัฐได้มีการดำเนินการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็น
• กำหนดมาตรการต้นทาง กลางทาง และปลายทางในการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี • รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งขยะหน้ากากอนามัยออกจากขยะทั่วไปในครัวเรือน โดยพับหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น ติดข้อความหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” • จัดให้มีการตั้งถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อ แล้วติดข้อความ “สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น” ในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อบริการประชาชน • ออกมาตรการดูแลบุคคลผู้ปฏิบัติงานในการจัดเก็บขยะ ให้ความรู้ความเข้าใจกับพนักงานเก็บขยะ และจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานทุกวัน • จัดสรรงบเพื่อผลิตหน้ากากผ้าแจกจ่ายให้ประชาชน ให้ความรู้การจัดทำหน้ากากผ้า และรณรงค์ให้ใช้หน้ากากผ้า • กำจัดขยะหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ 2545 • คัดแยกขยะติดเชื้อ นำไปกำจัดด้วยเตาเผาตามมาตรการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่า สิ่งที่ภาครัฐกำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือเพียงพอแล้ว เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้จบลงที่มาตรการจากภาครัฐ หากพวกเราทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ มาตรการก็จะเป็นเพียงมาตรการ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ต่างต้องพยายามทำหน้าที่ของตนเองในฐานะประชาชนของประเทศ และไม่ปล่อยให้ประเด็นของ “สิ่งแวดล้อม” ถูกหยิบขึ้นมาพูดแค่ในวันคุ้มครองโลก หรือวันสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เราควรร่วมด้วยช่วยกันทำทุก ๆ วัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของทุกคน ทั้งในวันนี้และในอนาคต
Comments