![](https://static.wixstatic.com/media/00b543_994d041169af486cbdcba056130801bd~mv2.png/v1/fill/w_980,h_498,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/00b543_994d041169af486cbdcba056130801bd~mv2.png)
การจัดการขยะพลาสติก เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจ จะเห็นได้จากการร่วมรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และใช้ประโยชน์จากพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หรือ นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ในขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้พลาสติก ที่ขาดความตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่ง 90% ของขยะพลาสติก เกิดจากการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือขาดการกำจัดอย่างถูกวิธี ทำให้โลกของเรามีขยะจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 60 % ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 3,440 ตันต่อวัน คิดเป็น 37 % ของปริมาณขยะทั้งหมด (9,370 ตันต่อวัน) โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการสั่งสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการสั่งซื้ออาหารมาส่งที่บ้าน (Delivery) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงกักตัว และ ช่วง Work from home ซึ่งขยะจากการขนส่งอาหารมักจะเป็น บรรจุภัณฑ์พลาสติก หลอด ขวดน้ำ รวมถึงช้อนส้อมพลาสติกอีกด้วย
.
พลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานมาก ๆ โดยฝาขวดน้ำ ถุง และขวดพลาสติกเพียง 1 ชิ้น ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายทั้งหมด 400 - 450 ปี ในขณะที่กระป๋องอลูมิเนียม ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 80 - 100 ปี เมื่อเทียบกันก็จะพบว่าพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนานกว่ากระป๋องอะลูมิเนียมถึงสี่เท่า และการกำจัดพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธียังปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย นอกจากนี้ข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ยังเปิดเผยว่า ขวดพลาสติกส่วนใหญ่มักมีสาร Bisphenol A (BPA) สารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพลาสติก ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นสูง แต่สำหรับคนแล้ว สารนี้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ส่งผลต่อเซลล์สมอง และระบบการเรียนรู้ของเด็ก หากขยะพลาสติกถูกทิ้งอย่างไม่เป็นที่ หรือไหลลงสู่มหาสมุทร ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด อาจส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติเสื่อมโทรม และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปในที่สุด
.
เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าและบริการ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น แบรนด์เครื่องดื่มชั้นนำของโลกทั้ง Carlsberg, Coca-Cola รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ได้ร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อสิ่งแวดล้อม Paper Bottle Company หรือ Paboco เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทนพลาสติก จึงเป็นที่มาของ “ขวดจากกระดาษ” ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือ การเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงในการร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่า โดย Carlsberg ผู้นำด้านการผลิตเบียร์ของเดนมาร์ก ได้เปิดตัว “Green Fibre Bottle” ขวดเบียร์รักษ์โลก ใน C40 World Mayors Summit นับเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มเบียร์เจ้าแรกของโลกที่ทดลองใช้ขวดเบียร์กระดาษ ที่ผลิตจากใยไม้ โดยสามารถ Recycle ได้ 100% โดยไม่ทำให้เบียร์เสียรสชาติ Carlsberg ได้คิดค้นนวัตกรรมนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Coca-Cola ก็ได้ประกาศเปิดตัว ขวดกระดาษจาก Poboco และทดลองใช้บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศฮังการี ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบาย Zero Waste ของ Coca-Cola และมุ่งสู่เป้าหมายในการใช้ขวดที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2568 และให้ได้อย่างน้อย 50% ของบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2563
.
ทั้งนี้การผลิตขวดกระดาษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% นั้น ยังถือเป็นความท้าทายของแบรนด์ต่าง ๆ เพราะขวดกระดาษมักจะเปื่อยยุ่ยเมื่อสัมผัสกับของเหลว และไม่สามารถกักเก็บก๊าซสำหรับเครื่องดื่มอัดลมได้ดีเท่าที่ควร แต่การที่แบรนด์ผู้นำอย่าง Carlsberg และ Coca-Cola ได้ร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี และเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญ สำหรับการเริ่มต้นเพื่อการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นถัดไป ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวเกิดจากการที่แบรนด์ มีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และมุ่งมั่นสร้างโลกที่ดีกว่าร่วมกัน หากนวัตกรรมจาก Pabopo ประสบความสำเร็จ และเกิดความร่วมมือกันทั่วโลก ปัญหาขยะพลาสติกก็อาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้บริโภคสามารถเลือกดื่มเครื่องดื่มโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างโลกที่ดีกว่าไปพร้อมกับแบรนด์ต่าง ๆ ได้
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments