top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

โลกร้อนรุนแรงแค่ไหน สัญญาณเตือนภัยสีแดงจาก IPCC


หลายคนอาจเคยได้ยินว่า มนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภาวะโลกร้อนก็เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกคนต้องแก้ไข แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนก็ยังไม่ได้เห็นถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมที่แต่ละคนทำซึ่งจะส่งผลไปยังปัญหาที่ใหญ่ระดับโลก คิดว่าปัญหานี้ยังเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้มีความจำเป็นต้องแก้ไขมากนัก แต่รายงานฉบับล่าสุดจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ ได้กลายมาเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่ามนุษย์คือตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน นี่คือสัญญาณฉุกเฉินครั้งสำคัญของมนุษยชาติ โลกร้อนเร็วขึ้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตอนนี้มนุษย์แทบจะไม่มีหวังที่จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว

.

รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ว่าด้วยความเข้าใจเชิงกายภาพของระบบภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือรายงานความยาว 42 หน้า ที่ใช้เวลาจัดทำนานถึง 8 ปี รวบรวมจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 14,000 ชิ้น โดยชี้ให้เห็นถึงสภาพการณ์ที่เลวร้ายลงในหลายด้าน ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปัจจุบัน ซึ่งสูงขึ้นกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมกว่า 1.09 องศาเซลเซียส อากาศที่ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี คลื่นความร้อนและสภาพอากาศที่ร้อนจัดสุดขั้วก็เกิดบ่อยครั้งขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า นอกจากนี้หากเทียบกับช่วงปี พ.ศ. 2444 ปัจจุบันระดับน้ำทะเลเฉลี่ยก็สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าอันเป็นผลมาจากการละลายของธารน้ำแข็งทั่วโลก และน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

หนึ่งในบทสรุปจากรายงานฉบับนี้ คือภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อระบบรักษาสมดุลของโลก จนไม่อาจย้อนคืนดังเดิมได้ในระยะเวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี มหาสมุทรจะยังคงอุ่นและมีความเป็นกรดมากขึ้น ธารน้ำแข็งขั้วโลกจะละลายไปเรื่อย ๆ โดยจากแบบจำลองของนักวิทยาศาสตร์พบว่า ไม่ว่าทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมมือกันควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงใด อุณหภูมิของโลก จะสูงขึ้นกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แตะ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ. 2583 ในทุกกรณี ส่วนน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน 2 เมตรภายในปี พ.ศ. 2643 และสูงขึ้น 5 เมตร ภายในปี พ.ศ. 2693 ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ชายฝั่งส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านชีวิต และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง แม้แต่องค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace ก็ได้คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วม

.

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว หากทุกประเทศ ทุกภาคส่วน และทุกคน ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็จะสามารถเยียวยาโลก และป้องกันสถานการณ์อันเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผ่านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 หากทำได้ดังนั้นก็จะสามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ แล้วคงไว้ในระดับที่ไม่สูงเกินไปได้

.

หลายคนอาจทราบกันดีว่าการดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่การดำรงชีวิตต่างก็ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่มีธรรมชาติ (Planet) ก็ไม่มีธุรกิจ (Profit) และไม่มีผู้คน (People) ซึ่งภาวะโลกร้อนก็เป็นปัญหาสำคัญที่มีความรุนแรง และส่งผลกระทบในหลายด้าน ในภาคเศรษฐกิจระดับโลกก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าหากปัญหาดังกล่าวยังดำเนินต่อไป ค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (World’s GDP) จะลดลง 7 - 23% ภายในปี พ.ศ. 2643 ซึ่งอาจเทียบได้กับการรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทุกปีเลยทีเดียว ทุกภาคส่วนควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ ตั้งแต่ภาครัฐที่ล่าสุดได้ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 - 2613 หรืออีกประมาณ 44 ปี ภาคประชาชนที่ตระหนักถึงการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ใส่ใจต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และภาคธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ใช้ศักยภาพของตนแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนโลกที่ดีกว่าเพื่อทุกคนต่อไป

.

Analyzed by BRANDigest

.

240 views

Comments


bottom of page