top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

ระบบนิเวศที่ดีกว่า จากการแก้ปัญหาขยะพลาสติก

Updated: Sep 21, 2020



ทั่วโลกมีขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลกว่า 5-13 ล้านตันต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งพลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้รวมกับขยะชนิดอื่น ทำให้ยากต่อการรีไซเคิล หรืออาจจะรีไซเคิลไม่ได้ เมื่อขยะเหล่านี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ก็อาจจะปลิวหรือไหลไปยังแหล่งน้ำ หากรวมกับพลาสติกที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามท้องถนนแล้ว ก็นับว่าเป็นปริมาณไม่น้อย และสุดท้ายพลาสติกอย่างไมโครไฟเบอร์ ที่หลุดออกจากเสื้อผ้าขณะซักทำความสะอาด ก็ปนไปกับน้ำที่ใช้ในการอุปโภคในชีวิตประจำวัน โดยขยะเหล่านั้นไหลลงสู่แหล่งน้ำแล้วก็ไหลลงสู่ทะเลต่อไป


จากเหตุการณ์กองพลาสติกลอยทอดยาวนอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกว่า 10 กิโลเมตร บริเวณจังหวัดชุมพร ทำให้เราเห็นว่า ปัญหาพลาสติกในท้องทะเลใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แม้หลายคนอาจจะไม่เคยมองเห็นปัญหาเหล่านี้ เพราะมันอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเรา แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ ยิ่งไปกว่านั้นสัตว์ทะเลกว่า 300 ตัวต่อปีต้องเสียชีวิตจากปัญหานี้


เมื่อปัญหาที่ถูกสะสมไว้เป็นเวลานาน เริ่มส่งผลกระทบบางอย่างกลับมาสู่มนุษย์ เห็นได้จากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และยังพบไมโครพลาสติกในอวัยวะต่าง ๆ ของมนุษย์ เป็นสัญญาณที่กำลังบอกพวกเราทุกคนว่า ปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากเพียงใด และปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลจากการไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในอดีต ที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน การแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่งเช่นกัน แต่ต้องร่วมมือกันทั้ง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน


ภาครัฐ ต้องวางนโยบายเพื่อจัดการกับพลาสติก ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น โครงการในการคัดแยกขยะและนำกลับมาใช้เป็นพลังงานของประเทศสวีเดนที่เริ่มต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 จนปัจจุบันสามารถนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ สำหรับภาคธุรกิจ ในฐานะผู้ผลิตและใช้พลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินการธุรกิจ รวมถึงหาทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า เช่น CP All ที่ประกาศจุดยืนงดแจกถุงพลาสติกใน 7-11 ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หรือร้านกาแฟ Starbucks ที่ประกาศเลิกใช้หลอดพลาสติกในร้านทุกสาขาทั่วโลก ภายในสิ้นปีนี้ และส่วนสุดท้ายคือ ภาคประชาชน หรือผู้บริโภค ก็ควรคำนึงถึงผลกระทบจากการบริโภคของตนเอง ลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน หาทางเลือกใหม่ เช่น การใช้ถุงผ้า สนับสนุนสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการกระทำในอดีต กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาพลาสติกในครั้งนี้กำลังทำให้พวกเราได้เห็นว่า การเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ดูเป็นเรื่องไกลตัวส่งผลต่อชีวิตเรามากขนาดไหน และสุดท้ายปัญหาเหล่านั้นก็จะสะท้อนกลับมายังชีวิตของเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง การให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบเชิงลบที่เราสร้างขึ้น แล้วสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับระบบนิเวศ เพื่อโลกที่ดีกว่าในอนาคต เริ่มวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า



ที่มา:

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล

Greenpeace Southeast Asia



196 views

Comentários


bottom of page