top of page
Search

ประเทศที่ดีกว่าจากการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

Updated: Aug 18, 2021



ในสังคม หรือในประเทศหนึ่ง อาจมีปัญหาที่รอการแก้ไขในหลายด้าน การจะแก้ไขปัญหาหนึ่งให้ลุล่วง เกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ และเกิดผลกระทบในวงกว้าง มักจะต้องใช้ทรัพยากรมากมายไม่ว่าจะเป็นในมิติของเงิน เวลา หรือทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายจึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อจัดสรรทรัพยากรของตน แก้ไขปัญหาที่มีความสำคัญ อย่างตรงจุด และสร้างคุณค่าที่ดีกว่าให้แก่สังคม ซึ่งหนึ่งในเกณฑ์ที่อาจใช้เพื่อเลือกปัญหาที่จะแก้ไขคือ ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรที่น้อย แต่ให้ผลลัพธ์ที่มาก ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในสังคม ไปจนถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เสนอแนวทางเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการแก้ไขปัญหาในสังคมด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การลงทุนเพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ หรือการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งการดำเนินการในแต่ละส่วนไม่เพียงสร้างคุณค่าในด้านการเงิน (Profit) แต่ยังส่งผลไปยังด้านของผู้คน (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet) อีกด้วย

.

ตัวอย่างแนวทางที่ TDRI เสนอ คือการลงทุนเพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจัดหาและกระจายวัคซีน ไปจนถึงการจัดหาชุดตรวจโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต รวมถึงส่งเสริมสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ถัดมาในด้านสิ่งแวดล้อม แม้มาตรการล็อกดาวน์จะช่วยลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทางด้วยรถยนต์ แต่ COVID-19 ก็ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างมาก ตั้งแต่ปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ของอาหาร ไปจนถึงขยะการแพทย์ และขยะติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นขยะอันตราย (Hazardous Waste) ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ส่วนสุดท้ายคือในด้านเศรษฐกิจ บทวิเคราะห์จากกรุงเทพธุรกิจระบุว่า COVID-19 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเพียงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หากไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศ ก็จะสร้างเม็ดเงินที่มีมูลค่าสูงถึงเดือนละ 150,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

.

อีกตัวอย่างคือการลดมลพิษทางอากาศ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการกระจายตัวของฝุ่น PM2.5 ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะกลับมาเป็นปัญหาอีกในทุก ๆ ปี ซึ่งแนวทางที่ TDRI เสนอคือการยกเลิกการใช้รถยนต์เก่าทั้งในฝั่งของภาครัฐ และเอกชน เช่น รถโดยสารประจำทาง หรือรถบรรทุกที่มีการใช้งานมาเป็นเวลายาวนาน เก่า และสร้างมลพิษมาก ซึ่งหากแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ก็จะทำให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอด โรคหัวใจ และโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ส่วนในด้านสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ พบว่า PM2.5 ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น ทำให้แหล่งน้ำมีความเป็นกรด ทำลายป่าไม้ที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Forests) ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นมลพิษในอากาศ ส่วนในด้านเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์มีการประเมินต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM2.5 โดยการพิจารณาใช้ต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM10 (เป็นฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า PM2.5) เป็นข้อมูลแสดงความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้น ซึ่งเพียงแค่ในกรุงเทพฯ ก็มีมูลค่าสูงถึง 446,023 ล้านบาท/ปี

.

ปัญหาในสังคมปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรในการแก้ไขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี หรือแม้แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ที่มีบทบาทผู้นำในการแก้ไขปัญหาจึงควรมองคุณค่า และประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกปัญหาสำคัญที่ควรเร่งแก้ไข ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนประเทศไปสู่สถานะที่ดีกว่าได้ในที่สุด

.

Analyzed by BRANDigest

.

39 views

留言


bottom of page