ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักมากขึ้น และกำลังมุ่งแก้ไขกันอย่างเร่งด่วนเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในส่วนการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง จนไปถึงการเก็บขยะในแหล่งน้ำ อย่างแม่น้ำ ไปจนถึงในทะเล
.
การพัฒนาของเทคโนโลยี รวมถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาจเป็นความหวังใหม่ที่จะทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดไป จากการร่วมมือกันของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ SCG Chemicals ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย
.
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว The Ocean Cleanup ได้มีการนำร่องส่งเรือเก็บขยะในแม่น้ำ (Interceptor) เรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทำหน้าที่ดักเก็บขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา มีการคาดการณ์ว่า เรือลำนี้จะสามารถเก็บขยะได้ 3–4 ตันต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในพื้นที่ โดยเฉลี่ยแล้ว สามารถลดปริมาณขยะในแม่น้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลได้ถึงร้อยละ 60 ส่วนขยะที่ถูกเก็บรวบรวมจะถูกนำมาคัดแยก และกำจัดตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรม และการสนับสนุนจาก SCG Chemicals
.
แม้การดำเนินการของภาครัฐในอดีตทั้งการยกให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ หรือการร่วมมือกับภาคเอกชนภายในประเทศ จะทำให้ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอยู่แล้ว จะเห็นความแตกต่างได้จากปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาปี พ.ศ. 2560 ที่มีสูงถึง 2,172 ตัน มาเหลือ 702 ตัน ในปี พ.ศ. 2562 แต่ความร่วมมือล่าสุดนี้ จะช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาขยะในทะเลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก เป็นความร่วมมือที่แก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การเก็บขยะในแม่น้ำสายหลัก ทำการแยกขยะ จนไปถึงการออกแบบแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นี่คือตัวอย่างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments