การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าในทุกวันนี้ นอกจากผู้บริโภคจะพิจารณาจากความคุ้มค่า คุ้มราคา คุณภาพดี และความสวยงามแล้ว อีกประเด็นที่พวกเขาเริ่มให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จากการศึกษาของ Forbes พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 87% ของผู้บริโภคจะซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหากมีโอกาส และ 88% ของผู้บริโภคจะภักดีต่อธุรกิจที่สนับสนุนปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเห็นว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้บริโภค
Patagonia ธุรกิจเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬากลางแจ้งอย่างการปีนเขา สกี และวินด์เซิร์ฟ เป็นอีกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับความคิด พวกเขามีเป้าหมายที่จะผลิตสินค้าที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยไม่จำเป็น ด้วยความตั้งใจนี้ทำให้ Patagonia เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับ 2 รองจาก Unilever จากผลสำรวจของ GlobalScan Sustainability Report ในปี พ.ศ. 2562 เพราะพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่ในระดับความคิด แต่ส่งต่อความเชื่อไปในกระบวนการการทำงานของพวกเขาด้วย
แน่นอนว่าสำหรับธุรกิจที่ผลิตอุปกรณ์ปีนเขา คงเป็นเรื่องยากที่จะก้าวข้ามผ่านรูปแบบสินค้าเดิมที่ผลิตมาเป็นเวลานาน แต่ Patagonia ใช้เวลาถึง 2 ปีคิดค้นหาเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนไปขายอุปกรณ์ปีนเขาที่ใช้เกาะเกี่ยวร่องหินได้โดยไม่ต้องเจาะหิน การตัดสินใจนี้ทำให้พวกเขาอาจต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งหมด แต่พวกเขาก็เลือกที่จะเปลี่ยนมัน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สินค้าชนิดอื่นก็เช่นกัน พวกเขาพยายามหาหนทางที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบ ตั้งแต่ใช้วัสดุรีไซเคิลผลิตเสื้อผ้า ออกแบบกระบวนการผลิตใหม่ และใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ในโรงงานของพวกเขา
ไม่เพียงแค่กระบวนการเท่านั้น พวกเขายังสื่อสารความเชื่อเหล่านี้กับผู้บริโภคด้วย ในปี พ.ศ. 2554 Patagonia เปิดตัวแคมเปญ “Don’t Buy this Jacket” ซึ่งเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภคว่า อย่าซื้อสินค้าถ้าไม่ได้ต้องการจริง ๆ แต่ถ้าหากพวกเขาต้องการมันล่ะก็พวกเขาควรรู้ว่าสินค้าชิ้นนี้ ตลอดกระบวนการผลิตนั้น สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ซึ่งหากตีเป็นมูลค่าแล้วสูงกว่าราคาเสื้อหนึ่งตัวของ Patagonia แคมเปญดังกล่าวสามารถดึงความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และยอดขายยังเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 40%
อย่างไรก็ดี ไม่มีธุรกิจใดทำธุรกิจโดยไม่หวังผลกำไร แต่ Patagonia ทำให้เห็นว่าสามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ยิ่งไปกว่านั้น Patagonia ยังประสบความสำเร็จทั้งทางการเงินและการดูแลสิ่งแวดล้อม จากบริษัทเล็ก ๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์ปีนเขา สามารถพัฒนามาเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับโลก และในฐานะผู้บริโภค การแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้เสื้อผ้าที่มาจากแหล่งผลิตที่ดี สร้างจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกวิธีง่าย ๆ ที่สามารถช่วยสร้างโลกที่ดีกว่า
Analyzed by BRANDigest
Comments