หากพูดถึงกระบวนการสร้างภาพยนตร์ คงเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นถึงความเชื่อมโยงกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์นับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก และมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก แม้ผู้ผลิตสื่อมีความพยายามที่จะปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Production) แล้วก็ตาม ผลการวิจัยของ The University of California, Los Angeles (UCLA) ได้ระบุว่าอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์มีส่วนในการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 140,000 ตัน ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ และภาพยนตร์ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้ก่อขึ้น และเริ่มขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
.
ปัจจุบัน Producers Guild of America (PGA) องค์กรไม่แสวงหากำไรของกลุ่มผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ และภาพยนตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ช่วยขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยร่วมมือกับผู้ผลิตสื่อยักษ์ใหญ่ฝั่งฮอลลีวูด ได้แก่ Disney, Amblin Partners, 20th Century Fox, NBC Universal, Paramount Pictures, Sony Pictures Entertainment และ Warner Bros. ในการผลักดันให้เกิดแนวทางการถ่ายทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Production Guide (GPG) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณ Carbon Footprint ผ่านการเลือกใช้สินค้าและบริการจากบริษัทที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดปริมาณขยะภายในกองถ่าย ผ่านวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
.
1. จัดทำฐานข้อมูลผู้ขายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Vendor) เพื่อให้ผู้ผลิตภาพยนตร์เลือกซื้อสินค้า และบริการจาก Green Vendor ตลอดกระบวนการผลิตภาพยนตร์ อันนำไปสู่การลดปริมาณ Carbon Footprint ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
2. จัดทำตารางการคำนวณปริมาณคาร์บอน (Carbon Calculator) เพื่อให้ผู้ผลิตใช้ในการจัดทำรายงานเสนอแก่สาธารณะ และดึงดูดนักลงทุนที่ให้ความสำคัญในประเด็นด้านความยั่งยืน
3. จัดทำ Production Environmental Actions Checklist เพื่อเป็นแนวทางในการถ่ายทำรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์อย่างยั่งยืน
4. จัดทำแนวทางการบริจาคอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว และการแปรรูปขยะ เพื่อลดปริมาณขยะภายในกองถ่าย เนื่องจากมีวัตถุดิบบางอย่างที่สามารถนำไปรีไซเคิล และใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อได้
.
ผลลัพธ์จากการปรับตัวสู่ความยั่งยืนของแวดวงฮอลลีวูดที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกสามารถเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคน้ำดื่ม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในกองถ่ายได้ถึง 5,685.52 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 192,625 บาท)
นอกจากการลดขยะขวดน้ำพลาสติกแล้ว การจัดการขยะภายในกองถ่ายเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบอื่น ๆ เช่น การนำขยะที่ย่อยสลายได้ไปทำปุ๋ยหมัก การเช่ายืมอุปกรณ์ในการถ่ายทำ และการบริจาคอุปกรณ์ภายในกองถ่าย เช่น เสื้อผ้านักแสดง ไม้อัดประกอบฉาก ก็ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายขยะ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบการขนส่งด้วย ภาพยนตร์เรื่อง The Amazing Spider-Man 2 จากค่าย Columbia Pictures ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะภายในกองถ่าย และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายขยะได้ถึง 4,732 ดอลลาร์ (ประมาณ 160,320 บาท)
.
ความยั่งยืนไม่ได้จำกัดให้อยู่ในเพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกหลายด้าน อย่างด้านแรงงาน การทารุณกรรมสัตว์ และความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งผู้ผลิตสื่อรายใหญ่ในฮอลลีวูด และแวดวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ในการมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่น่าอยู่ เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comentarios