สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ยังคงเป็นสิ่งที่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ฝั่งประชาชนเอง ก็เฝ้าติดตามและหาวิธีรับมืออย่างระมัดระวัง
เป็นเวลากว่า 2 เดือนจากวันที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไปแล้วกว่า 272 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563) และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่มากก็น้อย
นอกจากวิกฤตจาก COVID-19 ที่เรากำลังเผชิญและต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้แล้ว เรายังต้องค้นหา “วิธีคิดใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้” ให้ได้ด้วย ธุรกิจที่เจอคลื่นนี้ซัดจนรายได้ตกฮวบ ก็ต้องหาวิธีการรับมือและมองหาโอกาสในการกลับมาสะสางพัฒนาธุรกิจ ให้พร้อมต่อการก้าวเดิน หรือแม้กระทั่งหาทางต่อยอดธุรกิจเดิม ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในช่วงเวลานี้ได้
จะเห็นได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวกำลังซบเซา จากการประเมินตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นั้น ช่วงครึ่งปีแรกเราอาจต้องสูญเสียรายได้มากถึง 3 แสนล้านบาท
เช่นเดียวกันกับธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบไม่เบา มีการคาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า ปี 2563 ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกจะหดตัวราว 0.8% ตีเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็จะได้โอกาสในการเรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และบริหารจัดการกับอะไรหลาย ๆ อย่างในสเกลที่สูงขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ
ธุรกิจเดลิเวอรี่อย่าง Grabfood มียอดการสั่งซื้ออาหารเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าจากยอดปกติ หรือ ธุรกิจสตรีมมิ่งอย่าง Netflix นั้นได้รับความสนใจมากขึ้นจากตัวเลขผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นกว่า 5.3% ในหนึ่งวัน
สุดท้าย ไม่ว่าธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่ตอนนี้คือธุรกิจอะไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็เปรียบเสมือนบททดสอบวิชาความยั่งยืน ที่ช่วยให้ธุรกิจได้หันกลับมาทบทวนว่าอะไรคือจุดยืน อะไรคือความแข็งแกร่งในการดำรงอยู่
และบททดสอบที่ท้าทายมากกว่านี้ก็คือ วิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่แข็งแรง อะไรจะเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจอยู่รอด คู่ค้าอยู่รอด ลูกค้า และผู้อื่นในระบบนิเวศอยู่รอด... อะไรที่จะทำให้ธุรกิจที่ดีแล้ว เป็นธุรกิจที่ดีกว่าเดิม
ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นอะไร เราเป็นกำลังใจให้กับทุกคนและทุกธุรกิจที่ร่วมทำแบบทดสอบอยู่ด้วยกันในช่วงเวลานี้ เมื่อแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ลืมว่ายังมีคนอื่น ๆ อยู่ร่วมกับเราด้วย และพวกเขาก็ปรารถนาที่จะอยู่รอดเช่นเดียวกัน เมื่อนั้นเราจะมองเห็นหน้าตาของสังคมที่ดีกว่า ที่มีเราเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอย่างแน่นอน
ที่มา :
กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว
Business Insider
World Travel & Tourism Council
コメント