ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ธนาคารระดับโลกหลายแห่งได้ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ “การธนาคารที่ยั่งยืน” เป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น และครอบคลุมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Responsible Lending) ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม แนวคิดและเหตุผลทางธุรกิจของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” ก็ถือว่าพึ่งจะเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายอย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
.
ในปี พ.ศ. 2550 บริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ซึ่งเป็นองค์กรในเครือธนาคารโลกที่ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชน สรุปในรายงาน “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Banking for Sustainability) ว่า ความยั่งยืนสำหรับภาคธนาคารนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วน โดยองค์ประกอบแรก คือการจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนองค์ประกอบที่สอง คือการค้นหาโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในสาขาใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน นั่นหมายถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาสินค้า รวมถึงกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่สร้างประโยชน์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ไมโครไฟแนนซ์ บริการทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี และที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
.
ในปัจจุบัน มีสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้น ที่บูรณาการด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เข้าไปในการกำหนดกลยุทธ์ การปฏิบัติงาน และวัฒนธรรมองค์กร บางแห่งเรียกตัวเองว่า “ธนาคารสีเขียว” (Green Bank) โดยเน้นการให้บริการทางการเงินกับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เช่น สินเชื่อขนาดเล็กเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน และบริการเพื่อผู้พิการที่เข้าถึงได้ ในขณะเดียวกัน มาตรฐาน รางวัล และความร่วมมือด้าน “การธนาคารที่ยั่งยืน” ก็เริ่มปรากฎและเติบโตขึ้น ซึ่งมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดอย่าง หลักการอีเควเตอร์ (Equator Principles: EPs) ก็ถูกออกแบบเพื่อเป็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับสถาบันทางการเงิน ที่มีเป้าหมายในการประเมินและจัดการความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยหลักการอีเควเตอร์จะเป็นเสมือนมาตรฐานขั้นพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจด้านความเสี่ยงอย่างมีความรับผิดชอบ
.
ในด้านการยกย่องเชิดชูธนาคารที่มีความยั่งยืนได้มีการจัดงานมอบรางวัลโดยหนังสือพิมพ์ Financial Times ร่วมกับบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ มอบรางวัลการเงินที่ยั่งยืน หรือ FT/IFC Sustainable Finance Awards สำหรับสถาบันการเงิน และสถาบันจัดการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ในส่วนของการร่วมมือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ก็ได้ตีพิมพ์รายงานหลักปฏิบัติ “UNEP FI Guide to Banking & Sustainability” ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการเงินร่วมลงนามมากกว่า 200 แห่ง และก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2552 ธนาคารที่มุ่งทำธุรกิจอย่างยั่งยืน 16 แห่งจากทั่วโลก ก็ได้ร่วมกันก่อตั้ง Global Alliance for Banking on Value (GABV) ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของธนาคารที่ใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่นำส่งการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประชากรและชุมชนที่เข้าไม่ถึงการเงินในระบบ ตลอดจนปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันแนวร่วมดังกล่าวมีสถาบันการเงินเป็นสมาชิก 25 แห่งจาก 25 ประเทศทั่วโลก และเข้าถึงประชากรรวม 10 ล้านคน
.
ถึงแม้ว่าการธนาคารที่ยั่งยืนจะเริ่มแพร่หลาย และมีจำนวนมากขึ้น แต่ก็ยังนับว่าการดำเนินการ วิธีคิด และวิธีปฎิบัติต่าง ๆ ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลาย ๆ คน ดังนั้น ผู้บริหารสถาบันการเงินควรให้ความสำคัญ และผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากการธนาคารที่ยั่งยืนจะเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจผ่านการสร้างผลตอบแทนให้สังคมแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนในสังคมอีกด้วย จึงนับเป็นย่างก้าวที่สำคัญสำหรับการธนาคารที่ยั่งยืนในการสร้างสิ่งที่ดีกว่าต่อไป
.
Analyzed by BRANDigest
.
Yorumlar