top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

ธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน




เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นเป้าหมายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา ผ่านความร่วมมือกันของหลายประเทศทั่วโลก เป้าหมายนี้จึงเป็นหลักยึดในการดำเนินการของหลาย ๆ องค์กร สำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนก็เช่นกัน

หลังการจัดตั้งในปี พ.ศ. 2558 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) 17 ข้อ ก็ได้ปรากฎอยู่ในรายงานความยั่งยืนของธุรกิจหลายแห่ง และยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย ซึ่ง 3 อันดับที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรายงานความยั่งยืนของธุรกิจ ได้แก่…

แน่นอนว่าการทำธุรกิจล้วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และการจ้างงาน แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน Walmart ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลก ได้เติมเต็มเป้าหมายนี้ โดยการสร้างงานให้คนทั่วโลกกว่า 2.2 ล้านคน ในตำแหน่งงานที่หลากหลาย ตั้งแต่พนักงานชำระเงิน ไปจนถึงวิศวกรคอมพิวเตอร์ มีการจ่ายค่าจ้างที่สมเหตุสมผล และมีโอกาสในการเติบโตที่ดี เห็นได้จากปีที่ผ่านมา พนักงานกว่า 200,000 คน ได้เลื่อนขั้น สู่การมีหน้าที่ความรับผิดชอบ และฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น นอกจากนี้กว่า 75% ของพนักงานระดับผู้จัดการ คือพนักงานที่เคยทำงานรายชั่วโมงในสาขามาก่อน ไม่เพียงแค่สร้างรายได้ให้กับสังคม แต่ Walmart ให้คุณค่ากับพนักงานของพวกเขายกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของธุรกิจ

อันดับที่ 2 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผลมาจากการไม่ใส่ใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในอดีต ซึ่งธุรกิจเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ จากการผลิตและสร้างการบริโภคจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจะทำให้ธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์ อากาศกลับมาบริสุทธิ์ ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน Unilever ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก พยายามเปลี่ยนกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับสิ่งแวดล้อม โดยลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ วางเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2582 หันมาใช้พลังงานทางเลือก ยกเลิกการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิต และลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่ง อีกทั้งร่วมมือกับเกษตรกรเพื่อปกป้องฟื้นฟูผืนป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับให้การดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ให้ไม่ทำลายป่าไม้ ภายในปี พ.ศ. 2566 และลงทุนใน Climate & Nature Fund เพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และรักษาสิ่งแวดล้อม กว่า 36,815,310,000 บาท อีกด้วย เพราะธุรกิจเองก็ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทุนของธุรกิจ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือถูกทำลาย ไม่เพียงแค่ผู้คนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจเองก็ต้องได้รับผลกระทบเช่นกัน

อันดับที่ 3 การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน

การบริโภคและการผลิตที่เกินความจำเป็น ไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาขยะ และทำให้ทรัพยากรไม่ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ TESCO ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก พยายามสร้างการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน พวกเขาตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจกว่าครึ่ง ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยยกเลิกติดป้ายแสดงวันที่ควรบริโภคก่อน (Best Before) จากสายการผลิตผักและผลไม้ กว่า 180 สาย เพื่อลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะทิ้งอาหารที่ยังคงปลอดภัยต่อสุขภาพก่อนเวลาอันควร รวมถึงขายผักและผลไม้ที่มีคุณภาพดีแต่คุณสมบัติยังไม่ถึงมาตรฐาน เพื่อไม่ทิ้งให้กลายเป็นขยะอาหาร ซึ่งตอนนี้ได้ขายผักและผลไม้ส่วนนี้ไปกว่า 25,000 ตันแล้ว นอกจากนี้ TESCO ยังตั้งเป้าให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยเริ่มจากการสร้างระบบปิดในการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ทุกอย่างสามารถใช้ซ้ำได้ และลดการใช้วัสดุที่ยากต่อการรีไซเคิล พวกเขาปรับกระบวนการในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลดีต่อธุรกิจจากคุณค่าร่วมกันกับสังคมแล้ว ยังส่งผลดีต่อโลกอีกด้วย

เมื่อธุรกิจต้องการสร้างความยั่งยืน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงถูกนำมาเป็นตัวช่วยกำหนดทิศทาง แม้จะเต็มไปด้วยท้าทาย และต้องการความใส่ใจอย่างต่อเนื่อง แม้การแก้ปัญหาบางอย่างอาจไม่ส่งผลให้เห็นในวันนี้ แต่การเริ่มต้นลงมือทำให้เร็วย่อมเป็นผลดีมากกว่าการเพิกเฉยต่อปัญหา ไม่เพียงแค่ธุรกิจเท่านั้น การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เริ่มลงมือทำวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน

ที่มา:

Fortune

PwC

TESCO

Unilever

Walmart


141 views

Comments


bottom of page