top of page
Search

ประเทศไทย กับ การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



“ภาวะโลกร้อน” นับว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อนมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ จากรายงานของ World Economic Forum ปี 2020 พบว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนแต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เศรษฐกิจโลกได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมกว่า 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 นอกจากนี้ การศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford และ Berkeley ล่าสุดได้สรุปไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจจะทำให้ภายในสิ้นศตวรรษนี้ GDP ของโลกลดลงร้อยละ 23 

จากการจัดอันดับ Global Climate Risk Index 2019 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ซึ่งจากการจัดอันดับในครั้งนี้ยังพบว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการผลิตของภาคการเกษตรไทย ลดลงไปมากกว่า 25% ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เราเองก็เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับที่ 25 จาก 186 ประเทศทั่วโลก 


เป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 13 โดยระหว่างปีพ.ศ. 2553 ถึง 2573 หลายประเทศทั่วโลกตั้งเป้าที่จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สุทธิให้ลดลงเหลือ 45% ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 20% โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศเพื่อจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช่วงปีพ.ศ. 2558-2593 

แน่นอนว่าการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญอยู่ แต่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังพยายามแก้ไข เพราะไม่ว่าสังคมจะเจริญหรือพัฒนาไปสักแค่ไหน ถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถอยู่ได้ ปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องพยายามช่วยกันแก้ไข เพื่อโลกที่ดีกว่าของเราทุกคน

ที่มา : 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)

Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019

United Nations Framework Convention on Climate Change

United Nation Development Programme

World Economic Forum

150 views

Comentarios


bottom of page