ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการคมนาคมทั้งทางบก และทางอากาศ เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาค และมีพรมแดนเชื่อมต่อกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และเวียดนาม ทั้งยังเป็นประตูสู่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น พม่า ลาว กัมพูชา
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมสำหรับการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ โครงข่ายด้านการสื่อสาร ระบบคมนาคมขนส่ง รวมถึงการเกิดของนิคมอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ และประเทศ
ประเทศไทยมีความพยายามที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ครบวงจรอย่างยั่งยืนผ่าน กลไกขับเคลื่อนชุดใหม่ (Growth Engine) ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจบนวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เน้นการออกแบบระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเรามีกลไกการขับเคลื่อนชุดใหม่ซึ่งรวมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ที่ประกอบไปด้วย…
Productive Growth Engine หรือการให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม สนับสนุนภาคเอกชนให้เพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ และชีวเคมี และการพัฒนาความสามารถในการผลิตโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ
Inclusive Growth Engine หรือการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ผ่านการร่วมมือกันของภาครัฐบาล และภาคเอกชน สนับสนุนภูมิปัญญาชาวบ้านในการสร้างมูลค้าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่นของเศรษฐกิจฐานชุมชน นอกจากนี้ยังให้เงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้สามารถยกระดับตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้
Green Growth Engine หรือการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีสะอาด เพื่อลดมลภาวะที่มาจากกระบวนการผลิต และป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้การยกระดับประเทศไทยไปสู่สถานะที่ดีกว่าได้ ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เรามีความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมใหม่ ๆ มีแรงงานที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
ที่มา
กรุงเทพธุรกิจ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Forbes Thailand
Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019
United Nations Development Programme
Kommentare