top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

ประเทศไทย กับ เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน



การขยายตัวของชุมชนเมืองทั่วโลกนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 ทำให้ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวง หรือเมืองที่มีความเจริญมาก ซึ่งมีการคาดการณ์จากองค์การสหประชาชาติว่าแนวโน้มตัวเลขนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 70% ภายในปีพ.ศ. 2573 สถานการณ์นี้อาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มต้องเผชิญกับปัญหาปัจจัยขั้นพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ การบริหารจัดการเมืองให้สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทุกประเทศที่ต้องการพัฒนาเมืองให้ได้อย่างยั่งยืน

ประเทศไทยก็มีโครงการในการพัฒนาการให้บริการขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยูในเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบพัฒนาเมืองและชุมชน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 11 และ วาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda : NUA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนพัฒนาของประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น

“โครงการบ้านล้านหลัง” ที่ส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานเป็นของตนเอง โดยมีทางเลือกทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อมชุมชน และระดับราคาที่ตรงกับความต้องการ 

การปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างบูรณาการ  เพื่อบริหารจัดการ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมี 71 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัด ที่ได้ดำเนินแผนปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้ว 

แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน หรือ “จังหวัดสะอาด” ที่มีเป้าหมายในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในเมือง โดย ลดปริมาณขยะ และส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด Reduce Reuse Recycle 

การส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเท่าเทียม ผ่านการปรับปรุงการให้บริการ และจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ยกตัวอย่าง การติดตั้งลิฟต์ในระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุและผู้พิการที่สนามบิน เป็นต้น

แน่นอนว่าเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนนั้น คือผลลัพธ์ของการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในมิติที่ครอบคลุมทั้งด้านความเป็นอยู่ของประชาชน การเติบโตของเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้คน ซึ่งหากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมด้วยช่วยกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 11 นั้นก็คงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ที่มา : 

กรุงเทพธุรกิจ

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019

The United Nation



282 views

Comments


bottom of page