เมื่อพูดถึง “พลังงาน” หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง เราต้อง พึ่งพิงพลังงานแทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน ไม่ว่าจะในภาคผู้บริโภคหรือ ในภาคผู้ผลิต จากข้อมูลของ Shell Thailand ระบุว่า ความต้องการใช้พลังงาน ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2050 ซึ่งหมายความว่าหากประเทศไทยไม่สามารถบริหารจัดการพลังงาน ให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นประเทศที่ขาดเสถียรภาพและความสามารถในการแข่งขัน
ประเทศไทย มีแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (Thailand Integrated Energy Blueprint) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TIEB ซึ่งประกอบไปด้วย แผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP), แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP), แผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP), แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas), และ แผนบริหารจัดกาน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil)
โดยได้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อลดการใช้น้ำมัน ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และขนส่งมวลชน ปรับลดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง และปรับเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. ไปจนถึงมีการตั้งเป้าหมายการลด (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 ด้วย
นอกจากการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้พลังงานสะอาดในอนาคตทั้งหมดนี้ประเทศไทยยังมีมาตรการมุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) ที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้พลังงานทุกสาขาเศรษฐกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพลังงานของประชาชนทุกคน ให้สามารถใช้พลังงานได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่สามารถแข่งขันในระดับสากล เป็นประเทศไทยที่ดีกว่าต่อไป
ที่มา:
กระทรวงพลังงาน
PTT ExpresSo (PTT Express Solution)
Shell Thailand
Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019
Comments