แม้หลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในประเทศไทย จะมีตัวเลขการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 4% และ 4.1% ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจในทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งมาตรการหลักมุ่งเน้นไปที่เรื่อง การเพิ่มรายได้ การจัดหางาน เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน รวมถึงความปลอดภัย และสวัสดิการพนักงาน แต่ก็ยังพบว่าอัตราการว่างงานในประเทศ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 สูงกว่าอัตราการว่างงานในปีที่ผ่านมาถึง 8-12 เท่า (อ้างอิงจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย : TDRI)
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั่วโลกหนักที่สุดในรอบ 150 ปี ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบร้อยละ 5.2 เเละส่งผลให้ประชากรโลกอยู่ในภาวะยากจนสุดขีดสูงถึง 70-100 ล้านคน ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับแต่ละประเทศในการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
เราคงได้เห็นความพยายามในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากแต่ละภาคส่วน รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทั้งธุรกิจ และประชาชนกันไปแล้ว ยกตัวอย่าง จัดโครงการจ้างงานของภาครัฐ การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การผ่อนผันชำระหนี้ หรือการจ้างงานเพิ่มของภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งการสร้างแพลตฟอร์ม Market Place ให้เป็นพื้นที่ในการสร้างรายได้เพิ่มเติมของภาคประชาชน แต่ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นเท่านั้น การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานไทยในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ การคิดในเชิงวิเคราะห์ รวมถึงการให้ความรู้ในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการ น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ และทำอย่างสม่ำเสมอ
การยกระดับการจ้างงานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ไปสู่สถานะที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่องนั้น ประเทศไทยต้องสามารถดำรงอยู่ได้ทั้งในช่วงที่มีและไม่มีวิกฤต หากเราสามารถถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และนำมาเป็นโอกาสที่จะตั้งต้นใหม่ เติมสิ่งที่ขาด เสริมสิ่งที่ด้อย และหาแนวทางการเติบโต ในแบบฉบับของตัวเอง แต่สามารถนำไปสู่การเติบโตของสังคม สุดท้ายเราทุกคนจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศไทยที่ดีกว่าไปด้วยกัน
ที่มา :
กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน
กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ธนาคารโลก
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019
Comments