ความเท่าเทียมทางเพศไม่เพียงแค่เป็น สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสร้างสังคมที่ยั่งยืน
McKinsey Global Institute ได้คาดการณ์ไว้ว่า การลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศ อย่างการเพิ่มความเสมอภาคด้านการทำงานของทุกเพศให้มีความเท่าเทียมกัน จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มากถึง 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน ปี 2025
ดังนั้นการสนับสนุนให้ประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกันในแต่ละบทบาท ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง หรือในด้านอื่น ๆ โดยปราศจากเงื่อนไขทางเพศมาเป็นข้อจำกัด แต่เป็นการวัดจากความสามารถ ความพร้อม หรือทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทนั้น ๆ จะช่วยสร้าง ความมั่นใจให้กับคนในประเทศได้ว่า พวกเขาจะสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในการเติบโต หรือในการเป็นผู้นำ
จากรายงาน Global Gender Gap Index 2020 ของ World Economic Forum พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 75 จาก 156 ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ ถึงแม้ว่า Gender Gap Index ของประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นสองอันดับจากปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงเป็นปัญหาที่สังคมยังต้องเผชิญอยู่ในทุกวันนี้
เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างสังคมที่ทุกเพศมีโอกาสเท่าเทียมกันแล้ว หลายคนอาจยังสงสัยว่า ใครควรรับผิดชอบในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น หากเราลองเปิดใจมองให้กว้างขึ้นก็จะพบว่า ทุกคนต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นคำถามใหม่ที่เกิดขึ้นคือ วันนี้เรามีความคิดอย่างไรต่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เราสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาแบบไหน เราถ่ายทอดหรือสื่อสารกับคนรอบตัวยังไง เพราะความเท่าเทียมทางเพศที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเกิดมากจากความร่วมมือของทุกฝ่าย และทุกคนต้องช่วยกัน โดยก่อนที่เราจะทำให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศที่ดีกว่า” เราอาจจะต้องเริ่มต้นจากการทำให้เราเป็น “เราที่ดีกว่า” เสียก่อน
ที่มา:
McKinsey Global Institute Report 2015
Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019
The Economist
UN Women
World Economic Forum
Comments