ประเทศไทย กับ การขจัดความอดอยาก

“อาหาร” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในบรรดาปัจจัยทั้งสี่ ในปี พ.ศ. 2562 องค์การสหประชาชาติประกาศว่า มีผู้คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความอดอยาก เป็นจำนวนกว่า 113 ล้านคนทั่วโลก จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สร้างกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร ปี พ.ศ. 2560 - 2574 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะได้กินอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเพียงพอต่อความต้องการ
แม้ปริมาณอาหารจะไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศเกษตรกรรม แต่เรื่องคุณภาพของอาหารยังเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่ได้รับสารอาหารหรือโภชนาการที่ดีพอ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. 2558 - 2559 พบว่า เด็กไทยมีภาวะเตี้ยร้อยละ 10.5 ผอมร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกินกว่าองค์การอนามัยโลกกำหนด
ไม่กี่ปีถัดมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มโครงการเพื่อยกระดับมาตรฐานโภชนาการ ลดการขาดสารอาหาร และการเจริญเติบโตที่ด้อยกว่าปกติของคนทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กวัยทารกจนไปถึงวัยอนุบาล นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างสมวัย ผ่านโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กในช่วงระดับประถมศึกษา
นอกจากเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย เกษตรกรเป็นหนึ่งใน
ฟันเฟืองที่มีความสำคัญ ต่อการสร้างระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน การช่วยให้พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อจำกัดที่พบ รวมถึงส่งเสริมให้การทำเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น เป็นอีกหนึ่งวิธี
ที่จะช่วยทำให้บรรลุเป้าหมาย SDG ข้อ 2 ไปพร้อมกับการขจัดความอดอยาก ซึ่งประเทศไทย
ก็มีโครงการ “แผนการผลิตสินค้าเกษตรแห่งชาติ” (National Agricultural Production Plan)
ที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย สามารถเพาะปลูกพืชผลที่มีความต้องการสูงในตลาด
เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือน และยังมีโครงการลดต้นทุนสำหรับเกษตรกรรายใหญ่ ที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต
อย่างไรก็ตามปัจจัยภายนอกอย่างความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงสร้างความท้าทาย ในการขจัดความอดอยาก
ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนการผลิตอาหารที่สูงขึ้น หรือการเข้าถึงอาหารที่อาจลำบากมากขึ้น
ดังนั้นการเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวให้เหมาะสมตามบริบท จึงเป็น
สิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามปัญหาด้านความอดอยากได้อย่างยั่งยืน
เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า
ที่มา :
กรุงเทพธุรกิจ
Thailand’s Voluntary National Review on the Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development 2019