top of page
Search
Writer's pictureBWi Official

ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน สู่ความสำเร็จของ Starbucks



ในช่วงปี พ.ศ. 2541-2545 นับเป็นช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ครั้งหนึ่งของโลก ซึ่งก็คือวิกฤตการณ์การผลิตกาแฟที่ส่งผลกระทบให้ราคากาแฟทั่วโลกตกต่ำอย่างรุนแรง และยังเป็นสาเหตุให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าไม้มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของราคาเมล็ดกาแฟ ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยเลิกปลูกกาแฟ และหันไปทำการเกษตรรูปแบบอื่น ซึ่งบางส่วนก็ได้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการเพาะปลูก และไม่หันกลับมาปลูกกาแฟอีก เนื่องจากระยะเวลาที่ยาวนานของขั้นตอนก่อนการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังทำให้จำนวนผลผลิตของเมล็ดกาแฟมีน้อยลงอีกด้วย เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้แบรนด์กาแฟชั้นนำระดับโลกอย่าง Starbucks ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านอุปทานกาแฟ ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจครั้งใหญ่ เพราะยอดขายจากการขายเมนูที่มีกาแฟเป็นส่วนผสมคิดเป็น 70% ของยอดขายทั้งหมด

.

Starbucks จึงเริ่มสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์กาแฟ (Coffee Conservation Project) ร่วมกับ Conservation International (CI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (Shade Grown Coffee) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อมการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และการปลูกกาแฟไว้ด้วยกัน โดย Starbucks ตกลงรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาจากโครงการนี้ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Organic Shade Grown Mexico มากไปกว่านั้น Starbucks ได้นำหลักการ The Conservation Principles for Coffee Production ที่บริษัทสนับสนุนให้ CI และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรายอื่น พัฒนาหลักปฏิบัติในการเลือกซื้อเมล็ดกาแฟ โดยทดลองทำเป็นโครงการคู่ค้า (Preferred Supplier Program: PSP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขอความร่วมมือจากคู่ค้าปัจจุบัน และรายอื่น ๆ ในการพัฒนาแหล่งกระจายสินค้ากาแฟที่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยคู่ค้าที่ได้คะแนนในการทำงานมากกว่า 60% จะมีโอกาสได้รับคัดเลือกให้ทำสัญญาและรับซื้อสินค้าก่อนรายอื่น ๆ

.

อย่างไรก็ตาม Starbucks ไม่ได้ใส่ใจในการแก้ไขปัญหาเพียงในประเด็นของสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ก็ยังมีความใส่ใจต่อบริบททางสังคมด้วยเช่นกัน โดยมีการปรับมาตรฐานในการทำธุรกิจให้เข้ากับคู่ค้าที่มีบทบาทต่างกันในห่วงโซ่อุปทาน เช่น เกษตรกร สหกรณ์ หรือพ่อค้าคนกลาง โดย Starbucks ได้นำข้อเสนอแนะจากคู่ค้ามาแก้ไข และปรับเป็นมาตรฐาน C.A.F.E (The Coffee and Farmer Equity Practices) ซึ่งจะประเมินคู่ค้า 4 ด้านเพื่อให้คะแนนรวมคือ

.

1. คุณภาพสินค้า

2. ความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ เช่น ความโปร่งใสในการถือกรรมสิทธิ์หุ้น จ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมกับเกษตรกร

3. ความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งกล่าวถึงการจ้างงาน สภาพในการทำงาน

4. ความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำ ดิน พลังงาน การจัดการของเสีย และความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละขั้นตอนของการเพาะปลูกและแปรรูป

.

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 นอกจากผลผลิตกว่า 93% ของกาแฟ Starbucks จะมีคุณภาพดีขึ้นแล้ว มาตรฐาน C.A.F.E ยังทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีงานทำเพิ่มขึ้น ส่วน Starbucks เองก็ได้นำวิธีปฏิบัติที่เรียนรู้นี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่าง ชา Tazo และผลิตภัณฑ์โกโก้ รวมถึงการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ต่อในอีกปลายประเทศ ยกตัวอย่าง โคลัมเบีย เปรู ปานามา คอสตาริกา และอินโดนีเซีย โดยสิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับโครงการนี้ ก็คือการช่วยทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาร่วมโครงการด้วยการให้ความรู้ การสนับสนุนทางการเงิน และการพัฒนาให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

.

บทสรุปความสำเร็จในการสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนของ Starbucks ครั้งนี้ก็คือ การตั้งมาตรฐานและลงมือปฏิบัติโดยใส่ใจในกระบวนการก่อนผลลัพธ์ การคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและอุปสรรคที่คู่ค้ารายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญในการเปลี่ยนวิธีการทำงานมาเป็นแบบยั่งยืน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อยกระดับและเชิญชวนให้คู่ค้าในประเทศกำลังพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการ โดยแสดงให้พวกเขาเห็นถึงประโยชน์ในการทำตามมาตรฐาน ทั้งราคารับซื้อที่สูงขึ้น และความมั่งคงทางการตลาดจากการมีผู้รับซื้อรายใหญ่อย่าง Starbucks

.

Analyzed by BRANDigest

.

4,791 views

Comments


bottom of page