Be better, together – For the planet and the people แนวคิดหลักของการแข่งกีฬารายการใหญ่ระดับโลกอย่างโตเกียวโอลิมปิก ปี พ.ศ. 2563 (Tokyo Olympic 2020) สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยจัดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม พ.ศ. 2564 (เลื่อนมา 1 ปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19) โดยครั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการสร้างโลกที่ดีกว่า โดยจัดการแข่งขันกีฬาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC Sustainability Strategy) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการจัดการแข่งขัน ไม่น้อยไปกว่าการจัดการ และรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
.
การจัดการแข่งขันครั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด รวมถึงเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด ภายใต้แนวคิดดังกล่าว จึงกำหนดเสาหลักเพื่อความยั่งยืนออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) การจัดการทรัพยากร (Resource management) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ (Natural Environment and Biodiversity) สิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมแก่แรงงาน (Human rights, Labor, and Fair Business Practices) รวมถึงการสื่อสาร และความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียม (Involvement, Cooperation, and Communications)
.
ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่นได้เลือกใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการขนส่ง เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าไร้คนขับ (e-Palette) สำหรับรับส่งนักกีฬา และเลือกใช้ขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ภายใต้มาตรการจัดการความต้องการในการเดินทาง (Travel Demand Management: TDM) หรือแม้แต่การสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าภายใต้แนวคิด 3Rs คือ Reduce (ลดการใช้) Reuse (ใช้งานอีกครั้ง) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) เพื่อให้การสร้างขยะกลายเป็นศูนย์ อย่างการผลิตแท่นมอบรางวัลจากพลาสติกรีไซเคิล โดยการรวบรวมพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งและพลาสติกที่ถูกทิ้งในทะเล ออกแบบโดย Tokolo Asao ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ Tokyo 2020 การผลิตเหรียญรางวัลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหลือใช้ที่รวบรวมจากการรับบริจาคของใช้ภายในบ้านทั่วประเทศญี่ปุ่นกว่า 79,000 ตัน และโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว 6.21 ล้านเครื่อง การผลิตคบเพลิงจากอลูมิเนียมรีไซเคิล ที่ใช้สร้างบ้านพักชั่วคราวในครั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิบริเวณภูมิภาคโทโฮคุในปี พ.ศ. 2554 และชุดนักวิ่งคบเพลิงผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิลจากการรวบรวมของบริษัท Coca-Cola
จะเห็นได้ว่าการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างยั่งยืน ณ กรุงโตเกียวนั้น กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าจดจำไม่น้อยไปกว่าชัยชนะของนักกีฬา ถึงแม้ประเทศญี่ปุ่นจะเจอกับความท้าทายในการรับมือกับ COVID-19 ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการจัดโตเกียวโอลิมปิก 2020 ประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ได้ละความพยายามในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมไปหญิงการแก้ไขปัญหาขยะผ่านกลยุทธ์ 3Rs อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น ได้กระจายอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม ไม่เว้นแม้แต่การจัดการแข่งขันกีฬา โตเกียวโอลิมปิก 2020 จึงกลายเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของการจัดการที่ดีกว่า เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ให้กับประเทศอื่น ๆ ได้สานต่อในปีถัดไป
.
Analyzed by BRANDigest
.
#BetterCountry #BWi #BetterWorld #3Ps #NetPositiveImpact
Comments