รายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่าชุมชนเมืองใช้พลังงานที่ถูกผลิตขึ้นมาทั้งหมดบนโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 78% และสร้างมลพิษคิดเป็น 60% ของการปล่อยมลพิษทั้งหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนเมืองคือส่วนที่ใช้พลังงานปริมาณมหาศาล และเป็นแหล่งปล่อยมลพิษหลัก ๆ ของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการมีอาคารจำนวนมาก การใช้พลังงาน และการคมนาคม โดยในปีที่ผ่านมา COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนและองค์กรจำนวนมาก ให้ทำงานจากที่บ้าน ลดการพบปะระหว่างผู้คน และลดการเดินทางข้ามประเทศ ส่งผลให้ธรรมชาติฟื้นตัว และเป็นปัจจัยบวกต่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) แต่การศึกษาล่าสุดเผยว่า ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจน้อยจนไม่เป็นผลอะไรเลย หากผู้คนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างจริงจัง ในวงกว้าง และต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ต้องปรับโดยการคิดใหม่ (Rethink) และเปลี่ยนแปลง (Transform) สถานที่ ที่เราใช้ชีวิตและทำงาน โดยมีประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ สุขภาพ และเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นศูนย์กลาง
.
อาคาร และการปลูกสร้างอาหารก่อให้เกิดมลพิษกว่า 38% ตามการรายงานของ Global Alliance for Buildings and Construction (GABC) โดยภายในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกจะมีปริมาณมากถึง 10,000 ล้านคน โดยการขยายตัวของประชากรส่วนมากจะเกิดขึ้นในชุมชนเมือง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการก่อสร้างอาคารอีกเป็นปริมาณกว่าสองเท่า ภายในเวลาสิบปี สิ่งที่น่ากังวลคือ อาคารส่วนใหญ่อาจอยู่ในชุมชน หรือประเทศที่ไม่มีการกำกับดูแลเรื่องการใช้พลังงานในการก่อสร้าง และการใช้งานอาคารที่ดีนัก รวมถึงวงจรการปล่อยมลพิษในเมืองที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน อาคารจำนวนมากจึงต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อรับมือกับสภาพอากาศดังกล่าว และวนกลับมาปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นไปอีก ในการบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาคารทุกหลังต้องไม่ปล่อยมลพิษเลย ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งตอนนี้มีอาคารเพียง 1% เท่านั้นที่ไม่ปล่อยมลพิษ ตามการประเมินของ The World Green Building Council
.
ความหวังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงวิธีการออกแบบ การก่อสร้าง รวมถึงไปการดำเนินงานตึก ปรับปรุงตึกที่มีอยู่แล้วให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยมาตรฐานอาคาร แนวทางการพัฒนาด้านดิจิทัลที่ใช้งานได้ทั่วโลก เพื่อให้อาคารสามารถสร้างและบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานของตัวเองได้ มีความยืดหยุ่น พึ่งพาตนเองได้ และรองรับการใช้งานยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน นอกจากนี้หากอาคารนำเครื่องมือทางดิจิทัลเข้ามาใช้ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี เช่น เครื่องปั๊มความร้อนพลังงานไฟฟ้า มีประสิทธิภาพการทำงานสูงกว่าแบบฟอสซิล 3 - 4 เท่า และการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 20 - 30% อีกส่วนคือการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Power Grid) ที่จะช่วยให้การประหยัดพลังงานและมลพิษ มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก จะเห็นตัวอย่างได้จาก IntenCity ธุรกิจที่สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสร้างชุมชนที่สะอาด สุขภาพดี และมีชีวิตชีวามากขึ้น โดยได้สร้างออฟฟิศอัจฉริยะ (Smart Office Park) สำหรับพนักงานของ Schneider กว่า 5,000 คน ทำให้การใช้งานพลังงานแต่ละคนเหลือเพียง 37 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตร ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าการใช้พลังงานของบ้านในยุโรปกว่า 10 เท่า มีการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา กังหันลมสองเครื่อง และระบบเทคโนโลยีซับซ้อนที่ทำให้บริหารจัดการพลังงานได้อัตโนมัติ พร้อมการแบ่งปันและร่วมมือกับบ้านหลังอื่น ๆ ในชุมชนผ่านระบบ ควบคุม Microgrid อย่างมีประสิทธิภาพ
.
แม้จะมีการดำเนินการมากมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน แต่มันอาจไม่เพียงพอหากทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วนยังไม่ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่เราอยู่ หรือทำงานให้ไม่มีการปล่อยมลพิษ พัฒนาการออกแบบ และการใช้งานอาคารภายใต้เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษ มีการลงทุนระยะยาวเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น รวมไปถึงการวางแผนและจัดการชุมชนให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหากเราดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหานี้ไปพร้อมกัน เราก็อาจเติมเต็มความหวังที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงสภาพโลกที่เราเป็นอยู่นี้ให้ยาวนานขึ้น และสร้างโลกที่ดีกว่าไปพร้อมกันได้ในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments