“ผู้คนต้องการอะไรบ้างในชีวิต” เป็นคำถามที่ธุรกิจควรตอบให้ได้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ตอบสนองความต้องการในชีวิตของผู้บริโภค เมื่อทำเช่นนั้นได้ ธุรกิจก็จะสามารถสร้างการเติบโตจากแรงสนับสนุนของผู้คนในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ความต้องการของผู้บริโภค มีความหลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ธุรกิจควรตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ดังคำกล่าวบนปกหนังสือของ Andrew Grove อดีต CEO ของ Intel ที่ว่า “Only the Paranoid Survive”
.
หากศึกษาจากทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ แผนภูมิแสดงความต้องการตามลำดับขั้นถูกคิดค้นโดยนักจิตวิทยาอันโด่งดัง เราจะพบว่าความต้องการของคนในแต่ละขั้น ถูกเติมเต็มจากธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) ส่งผลให้คนในสังคมได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน อย่างความต้องการทางกายภาพ (Physiological Needs) และความปลอดภัยในการใช้ชีวิต (Safety Needs) มากขึ้น คนในสังคมสามารถเข้าถึงปัจจัยสี่ และได้รับการคุ้มครองจากเหตุการณ์อันตรายต่าง ๆ มากขึ้น
.
ในขั้นถัดมา ความต้องการเป็นส่วนหนึ่ง และได้รับความรัก (Love and Belonging Needs) ถูกเติมเต็มโดยธุรกิจที่สร้างความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน อย่างโมเดลธุรกิจการตลาดทีมฟุตบอล กลุ่มนักร้องเกาหลี กลุ่มในสังคมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นหาคู่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และความต้องการยอมรับนับถือ (Esteem Needs) โดยผู้คนในสังคมส่วนมากให้คุณค่ากับรูปลักษณ์ ฐานะ และข้อพิสูจน์บางอย่างที่บ่งบอกได้ถึงการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งธุรกิจมากมายก็มอบสถานะดังกล่าวให้กับผู้บริโภค ทั้งในลักษณะที่สร้างคุณค่าดังกล่าวอย่างเครื่องสำอางค์ ศูนย์ออกกำลังกาย หรือในลักษณะที่นำเสนอคุณค่าดังกล่าว อย่างรถยนต์ราคาแพง นาฬิกาหรู และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
.
ความต้องการในการเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ (Self-actualization Needs) คือความต้องการที่แท้จริงของคนคนหนึ่ง เพื่อให้เกิดการเติบโตและเติมเต็มจากภายในได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า มักถูกผูกติดกับคำว่าการประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของ Maslow ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน น้อยคนนักที่จะไปถึง แต่หากเราคิดและทำความเข้าใจกับมันแล้ว เราจะพบว่า Self-actualization เป็นการตอบสนองความต้องการสูงสุดที่เป็นผลกับตัวเองเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงบางคนอาจต้องการอะไรที่มาก ยิ่งใหญ่ และสร้างผลกระทบมากกว่าความต้องการในขั้นนี้..
.
ความต้องการที่อยู่เหนือความต้องการของตัวเอง (Self-transcendence) ความต้องการเพื่อให้ผู้อื่น หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นตัวอย่างจากผู้นำระดับโลก ที่ได้หันมาทำเพื่อสังคม หรือเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งผู้นำเหล่านั้น ก็มักได้รับการสนับสนุนเพื่อเติมเต็มเป้าหมายที่มากกว่าเพื่อตนเอง อย่าง มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) มูลนิธิเอกชนที่มีเงินมากที่สุดในโลก กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเท่าเทียม และนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้คนทั่วโลก บริหารโดยนักธุรกิจผู้ก่อตั้ง Microsoft บิล เกตต์
.
อาจไม่ใช่ทุกคนที่ต้องมีเงินถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นอภิมหาเศรษฐี ก่อน ถึงจะมีความต้องการในขั้นนี้ได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการในขั้นก่อน ๆ ก็อาจมีความต้องการเหนือความต้องการของตนเองได้เช่นกัน ธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการในขั้นนี้ได้ ก็มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค เช่น ดอยคำ ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารแปรรูป ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ใช้ประโยชน์จากการทำธุรกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรบนพื้นที่ราบสูงของประเทศไทย ผู้ที่สนับสนุนดอยคำ นอกจากจะได้รับคุณค่าจากสารอาหารแล้ว ยังได้รับการตอบสนองความต้องการระดับ Self-transcendence อีกด้วย
.
การทำธุรกิจรูปแบบนี้ ทำให้เกิดการสนับสนุนจากผู้บริโภคที่คำนึงถึงผู้อื่น เห็นความสำคัญของการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในระบบนิเวศ โดยผู้บริโภคประเภทนี้ก็มีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ธุรกิจอาจต้องตั้งคำถามว่า ตนสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อนำเสนอคุณค่า ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละขั้น จนไปถึงขั้นที่เหนือกว่าความต้องการของตนเอง อันเป็นการสร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้บริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป
.
Analyzed by BRANDigest
.
Commentaires