หลายคนอาจทราบถึงผลกระทบของ Covid-19 ต่อวิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงธุรกิจจำนวนมากทั่วโลก การปรับตัวของผู้คนต่อการระบาดของโรคดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัวตาม หรืออาจต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไป แต่คำถามที่น่าสนใจคือ การแพร่ระบาดของ Covid-19 จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากแนวโน้มอาจดูเหมือนว่า Covid-19 จะมาเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน และเป็นปัจจัยด้านลบเพียงอย่างเดียวต่อการดำเนินการดังกล่าว แต่ทว่า รายงานที่ถูกเผยแพร่ ในเดือนนี้ ของ edie องค์กรสื่อระดับโลก ด้านความยั่งยืน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ได้แสดงให้เห็นถึงข้อสรุปอันน่าสนใจซึ่งแตกต่างจากแนวโน้มที่กล่าวมาข้างต้น
.
ในรายงาน The 2021 Sustainable Business Leadership Report ของ edie ได้แสดงผลของแบบสำรวจออนไลน์ ในเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ ปีนี้ จากผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน ผู้นำธุรกิจ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กว่า 200 คน ในสหราชอาณาจักร พบว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างความยั่งยืนในปี พ.ศ. 2564 คือการเติบโตทางธุรกิจ และเป้าหมายระยะสั้น (30%) สูงกว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 (21%) รวมถึงการลงทุนและต้นทุน (18%) เนื่องจากการดำเนินการด้านความยั่งยืน เป็นแผนระยะยาวที่ต้องใช้การดำเนินการเป็นระยะเวลานาน และอาจไม่เห็นผลอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคตหากเข้าใจถึงความสำคัญ และสร้างสมดุลระหว่างการสร้างความสำเร็จในเป้าหมายระยะสั้น อย่างการเติบโตทางธุรกิจ หรือผลประกอบการที่ดีเยี่ยม กับการสร้างความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาว อย่างการสร้างความยั่งยืน หรือการสร้างคุณค่าให้กับสังคมในด้านต่าง ๆ แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งจะระบุว่าผลกระทบจาก Covid-19 เป็นความท้าทายต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน แต่ในทางกลับกัน องค์กรกว่า 7 ใน 10 แห่ง ก็กล่าวว่า Covid-19 ได้เข้ามาเร่งให้การดำเนินการด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม (Climate Action) เกิดเร็วขึ้นเช่นกัน
.
อีกส่วนที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้ ระบุถึงผลสำรวจที่ว่า ธุรกิจกว่า 85% มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการด้านความยั่งยืนมากขึ้น (More Committed) กว่าปีที่ผ่านมา Covid-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง (Disrupt) วิถีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า ธุรกิจควรมองวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาส ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่สถานะที่ดีกว่า ผ่านการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ก็จะส่งผลดีต่อองค์กรอย่างมาก นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรธุรกิจหลายแห่งกว่า 53% เห็นตรงกันว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดซึ่งนับเป็น แนวโน้มสำคัญ (Megatrend) ในปัจจุบัน คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนทรัพยากร (55%) ทิ้งห่างจาก เรื่องที่รองลงมาอย่างสุขภาพ ความเป็นอยู่และความเท่าเทียม (23%) อย่างมาก
.
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (59%) ทำงานในองค์กรที่ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การสำรวจพบว่า แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวมองว่ามีความสำคัญมาก (Very) และสำคัญอย่างยิ่ง (Extremely) ในการบรรลุเป้าหมาย สามอันดับแรกได้แก่ การตรวจหา และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Scope 3 Emissions) ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายนอกการควบคุมขององค์กร แต่มีความเกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า เช่น การขนส่งและกระจายสินค้า, ขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต, การใช้งานสินค้า, ฯลฯ สูงถึง 78% รองลงมาคือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยี และโปรแกรม 77% สุดท้ายคือการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) 47%
.
การดำเนินการด้านความยั่งยืน เป็นแนวทางที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกันมากขึ้น แต่เมื่อเกิดวิกฤต Covid-19 หลายธุรกิจอาจลังเลที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะยาวอย่างการสร้างคุณค่าต่อสังคม และมองว่าต้องบรรลุเป้าหมายระยะสั้นเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านความยั่งยืน หากธุรกิจมองวิกฤตให้เป็นโอกาส และผลักดันการเติบโตโดยคำนึงถึงเป้าหมายทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เข้าใจถึงสถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบันโลก แล้วเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ผ่านการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น องค์กรก็จะสามารถสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน และสร้างองค์กรที่ดีกว่าได้ในที่สุด
.
Analyzed by BRANDigest
.
Comments