top of page
Search

Kering ผู้สร้างมาตรฐานใหม่แห่งวงการแฟชั่นที่ยั่งยืน


คงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจัดเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน นอกจากนี้ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 10% จากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำประปารายใหญ่เป็นอับดับ 2 ของโลก จากการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้ Kering บริษัทแม่ของ Luxury Brands อย่าง Gucci, Balenciaga, Saint Laurent, Alexander McQueen และ Stella McCartney ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าว พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

.

Kering จึงได้มีการตั้งนโยบายหลักเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ปัจจุบันได้กำหนดกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Strategy) เพื่อปกป้อง และรักษาทรัพยกรธรรมชาติในตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นไปยังเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ การยับยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ และการจุดประกายการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศที่ดีกว่า อีกทั้งยังได้กำหนดมาตรฐาน Animal Welfare Standards เพื่อปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและแบรนด์หรู และยังสร้างห้องทดลองนวัตกรรมวัตถุดิบ หรือที่เรียกว่า Materials Innovation Lab (MIL) เพื่อคิดค้นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้า และสิ่งทอ เป็นต้น

.

จากการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Kering ส่งผลให้บริษัทสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม 14% ระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2561 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงถึง 77% นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับแบรนด์ลูก อย่าง Stella McCartney ในการสร้างมาตรฐานใหม่แห่งวงการแฟชั่นที่ว่า “กระเป๋าที่หรูหรา ไม่จำเป็นต้องมาจากหนังแท้” เพื่อลดการทารุณกรรมสัตว์ และได้สนับสนุนแบรนด์ดังกล่าว ภายใต้แนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) อย่างต่อเนื่อง โดย Kering ได้ตั้งเป้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมทางธุรกิจ 50% ภายในปี พ.ศ. 2568 อีกด้วย

.

มากไปกว่านั้น Kering ยังให้ความสำคัญกับพนักงาน ส่งเสริมความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศ จนได้รับการขนานนามว่า เป็น "Best place to work for LGBTQ equality" จาก Human Rights Campaign's 2021 (HRC) โดยใช้ดัชนีความเท่าเทียมขององค์กร หรือ Corporate Equality Index (CEI) จากมูลนิธิรณรงค์สิทธิมนุษยชนในการวัดผล โดย Kering ยึดหลักบริหารเพื่อความเท่าเทียมอย่างจริงจัง ดังคำกล่าวของ Kalpana Bagamane, Chief Diversity, Inclusion and Talent Officer ของ Kering ที่ว่า “ที่ Kering ความเสมอภาค และการรวมกลุ่มของ LGBTQ เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของคุณค่าที่องค์กรยึดถือ รางวัลที่ได้รับจาก HRC ได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นขององค์กรในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อพนักงานทั่วโลก และ Kering จะดำเนินการเพื่อส่งเสริม การไม่แบ่งแยก และสนับสนุนความหลากหลายนี้อย่างต่อเนื่อง”

.

เส้นทางความยั่งยืนของ Kering ในด้านการบริหารนั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ จากการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งทีมงานด้านความยั่งยืนและออกกฎในการกำหนดโบนัส หรือ ค่าตอบแทนพิเศษของผู้บริหารจากการคำนวณและใช้ “เป้าหมายความยั่งยืน” เป็นเกณฑ์ ด้วยทุกแนวคิด และการกระทำที่แสดงออกให้เห็นถึงการพูดจริงทำจริง Kering จึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนที่สุดในโลก อันดับ 7 จากการจัดอันดับ Global 100 ranking ของ Corporate Knights ในงาน World Economic Forum 2021 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2564 ถือเป็นแบรนด์ชั้นนำด้านแฟชั่นที่ติดอับดับ 1 ใน 100 แบรนด์ที่มีความยั่งยืนที่สุดในโลก ถึง 4 ปีซ้อน โดย Kering ได้รับคะแนน 74.8% และได้รับการจัดอันดับสูงสุดในด้าน การดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) รายได้ที่โปร่งใส (Clean Revenue) และการลงทุนที่ใสสะอาด (Clean Investment)

.

Analyzed by BRANDigest

.

326 views
bottom of page